การส่งออกไทยเดือนม.ค. 2559 หดตัว 8.9% YoYท่ามกลางปัจจัยลบที่ติดตามต่อเนื่องมาจากปีก่อน

25 ก.พ. 2559 | 10:08 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทความเรื่อง"การส่งออกไทยเดือนม.ค. 2559 หดตัว 8.9% YoYท่ามกลางปัจจัยลบที่ติดตามต่อเนื่องมาจากปีก่อน"

กระทรวงพาณิชย์รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค. 2559 ซึ่งประเด็นสำคัญยังคงอยู่ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยที่ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีก 8.9% YoY (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ซึ่งแย่กว่าที่หดตัว 8.7% YoY ในเดือนธ.ค. 2558 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ตลาดคาดที่ -7.1% YoY ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดที่ -7.3% YoY) ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การส่งออกของไทยจะมีสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียมากนัก แต่ก็คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ยิ่งจังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกยังเลื่อนเวลานานออกไป โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็จะยิ่งเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

*การส่งออกหดตัวในเดือนแรกของปี 2559 ตามแรงกดดันจากหลายปัจจัยลบที่ติดตามมาจากปีก่อน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อาเซียนเดิม 5 ประเทศ และตลาดในกลุ่มตะวันออกกลาง หดตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่ ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นตลาดความหวัง ก็ชะลอการขยายตัวลงมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตร น้ำมัน และโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลก ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ก็เป็นปัจจัยที่ถ่วงให้ภาพรวมราคาสินค้าส่งออกของไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีก 2.8% YoY [นำโดย ราคาส่งออกสินค้าเกษตร (-9.3% YoY) ราคาเม็ดพลาสติก (-8.5% YoY) เคมีภัณฑ์ (-5.2% YoY) น้ำมันสำเร็จรูป (-15.5% YoY)] และเป็นตัวแปรความเสี่ยงสำคัญที่ฉุดให้มูลค่าการส่งออกของไทย หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ที่ 8.9% YoY ในเดือนม.ค. 2559 โดยหากไม่นับรวมทองคำและกลุ่มน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 4% ของการส่งออกรวมแล้ว อัตราการหดตัวของการส่งออก จะลดน้อยลงมาอยู่ที่ 6.3% YoY โดยภาพบวกของปริมาณการส่งออกข้าว น้ำตาลทราย/กากน้ำตาล และรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถชดเชยแรงฉุดจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มน้ำมัน (-40.2% YoY) และที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฑ์ (-16.8% YoY) เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก (-13.0% YoY) และยางพารา (-25.7% YoY) ได้ทั้งหมด

*ภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2559 อาจหดตัวในกรอบที่สูงกว่า 5.0% YoY โดยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและประเทศผู้ค้าน้ำมัน ที่มีประเด็นผันผวนตั้งแต่ต้นปี สะท้อนว่า ตลาดส่งออกของไทยอย่างน้อยประมาณ 25% ยังคงมีสัญญาณเชิงลบ (จีนมีสัดส่วนประมาณ 11% ขณะที่ ประเทศผู้ค้าน้ำมันมีสัดส่วนประมาณ 14% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) และอาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อเนื่องไปยังตลาดส่งออกในส่วนอื่นๆ ซึ่งทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรตัวสำคัญ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมตัวหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น่าจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ สัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ก็อาจกดดันให้ผู้ส่งออกจำเป็นต้องตั้งราคาสินค้าในระดับที่ไม่สูงไปกว่าราคาสินค้าของคู่แข่งมากนัก

*โอกาสการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยหากความพยายามในการดูแลระดับกำลังการผลิตของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เริ่มทำให้สถานการณ์การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพและสามารถทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ก็อาจทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2559 ยังคงประคองภาพอยู่ในแดนบวกได้ แต่ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำไม่แตกต่างไปจากกรอบการเคลื่อนไหวในปัจจุบันแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่า การพลิกฟื้นการส่งออกของไทยให้กลับมาเป็นขยายตัวอีกครั้ง จะมีความเสี่ยงและเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้นสำหรับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และอาจทบทวนตัวเลขประมาณการการส่งออกของไทยในปี 2559 (ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ ณ ขณะนี้ อยู่ที่ 2.0%) อีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า