Brexit เสียงสะท้อนปัญหาในอังกฤษ(1)

20 ต.ค. 2561 | 04:20 น.
นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2017 ที่มีผู้ลงคะแนนประชามติถึง 52% เห็นควรให้ สหราชอาณาจักร (UK) ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) บัดนี้เหลือเวลาเพียง กว่าๆ 5 เดือนเท่านั้น ที่การแยกตัวดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์ ดังนั้น 3 บทความนับจากนี้จะเป็นบทความไตรภาคที่เกี่ยวกับเรื่อง Brexit และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก

โดยในฉบับนี้ในฐานะที่ผู้เขียนได้ศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ มาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยและรับทราบข้อมูลปัญหาหลายๆ ด้านเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเลือกที่จะใช้วิธีการสัมภาษณ์คนอังกฤษ เพื่อที่จะรับฟังเสียงสะท้อนของปัญหาดังกล่าวจากคนในพื้นที่ (insider) ที่แท้จริง โดยผู้เขียนได้รับเกียรติจาก Dr.Valerie Ainscough ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษา (Freelance Educational Consultant) มาให้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

[caption id="attachment_335157" align="alignleft" width="493"] Dr.Valerie Ainscough Dr.Valerie Ainscough[/caption]

จริงๆ แล้วการจัดให้มีการทำประชามติในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี David Cameron นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากในระหว่างการหาเสียงได้รับปากกับประชาชนว่าหากได้รับเลือกแล้วจะให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกที่จะคงความเป็นสมาชิก หรือถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ EU โดยในขณะนั้นรัฐบาลเองก็ไม่คิดว่าเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ จะเลือกที่จะแยกตัวออกจาก EU เป็นผลทำให้สุดท้ายแล้ว David Cameron เองก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง

และแม้ว่า Theresa May จะขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทน ทั้งที่ตัวเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ไม่ ได้ประสงค์ที่จะแยกตัวตามผลโหวต เพียงแต่ต้องทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเพื่อที่จะพยายามเสนอให้เห็นข้อดีของการ แยกตัวออกมาทั้งที่ค้านต่อความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองก็ตาม

โดยในกระบวนการแยกตัวนั้นได้มีขั้นตอนที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและจะมีผลสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2019 (เว้นแต่ประเทศสมาชิกที่เหลือทั้ง 27 ประเทศของ EU จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายระยะเวลาต่อไปได้ถึงเดือนธันวาคม 2020)

ปัญหาที่ Dr.Valerie ตั้งข้อสังเกตถึงการนำไปสู่การโหวตเพื่อแยกตัวออกจาก EU มีหลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก คือปัญหาเรื่องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงในการทำประชามติรัฐบาลไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่รอบด้านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง UK และ EU อย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ปัญหาหลักอีกประการนั้น น่าจะมาจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะประเด็นที่มีการนำเสนอข่าวหรือข้อมูลโดยส่วนใหญ่จะเป็นประ เด็นเรื่องงบประมาณทางด้านสุขภาพที่ UK ต้องจ่ายเข้ากองทุนใน EU ทำให้ประชาชนในประเทศเห็นว่าเป็นปัญหาที่จะกระทบต่อเรื่องงบประมาณทางด้านสุขภาพของตน

นอกจากนี้ก็จะเน้นไปที่เรื่องการที่ชาวยุโรปตะวันออกจำนวนมากได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และปัญหาเรื่องความปลอดภัย โดยไม่มีการนำเสนอข้อมูลในมุมกลับที่แสดงให้เห็นว่า UK ได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการที่ยังคงสถานะความเป็นสมาชิกของ EU ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการได้รับเม็ดเงินในการลงทุนจำนวนมหาศาลเข้ามาในประเทศ รวมถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยนโยบายระดับประเทศเท่านั้นเช่น ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น เมื่อชุดข้อมูลที่ได้รับมีจำกัด คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจึงเลือกที่จะแยกตัวออกจาก EU

S__27271187

ประเด็นต่อไปคือเรื่อง generations ที่มีผลต่อการลงคะแนน Dr. Valerie ตั้งข้อสังเกตว่า 75% ของผู้มาลงคะแนนที่มีอายุตํ่ากว่า 24 ปี และ 54% ของผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีเลือกที่จะยังคงสถานะความเป็นสมาชิก EU ในขณะที่เสียงโหวตที่มีความต้องการแยกตัวเป็นกลุ่มคนที่มีอายุเกินกว่า 50 ปี เหตุเพราะวิธีชีวิตของผู้คนใน UK ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะมีการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นปกติโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และเป็นผู้ที่เติบโตมาในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเห็นว่าการผูกสัมพันธ์หรือมีกิจกรรมในทางระหว่างประเทศถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว

นอกจากนี้ Dr.Valerie ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการลงคะแนนในการทำประชามติ ดังจะเห็นได้จากสถิติที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศได้ลงคะแนนเสียงเพื่อที่จะยังคงสถานะความเป็นสมาชิกของ EU ถึง 100%

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าผลการลงคะแนนไม่ได้มีจำนวนที่แตกต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้ที่ต้องการแยกตัวมี 52% ในขณะที่ผู้ที่ต้องการอยู่ต่อมี 48% ในประเด็นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าในประเทศเองเริ่มมีการเรียกร้องที่จะให้จัดทำประชามติในเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง เพื่อเป็นการล้มล้างผลของประชามติเดิม หลังจากที่ประชาชนได้รับรู้ถึงข้อเสียตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา

รวมไปถึงปัญหาต่างๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากที่การแยกตัวมีผลสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการที่ต้องปิดพรมแดนกับไอร์แลนด์เหนือ หรือประเด็นที่สกอตแลนด์จะขอทำประชามติใหม่เพื่อแยกดินแดนจากอังกฤษ เพื่อที่จะสามารถกลับเข้าเป็นสมาชิกของ EU ได้

ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบ ต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศอังกฤษอย่างมากโดยในวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม ในกรุง London ได้มีการจัดกิจการในการรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การจัดให้มีการทำประชามติในเรื่องนี้รอบที่ 2 ซึ่งคงต้องมาลุ้นกันว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่

ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีผลที่สามารถชี้นำต่อการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงของประเทศมากแค่ไหน ดังนั้นในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ หากท่านได้รับสิทธิใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลกระทบกับเรื่องดังกล่าว ขอให้ท่านพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจ

เพราะสุดท้ายผลนั้นจะย้อนกลับมาสู่ตัวท่านและสังคมของท่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม บทความนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่อง Brexit ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละฝ่ายก็มีความคิดและความเห็นจากมุมมองของตัวเองที่แตกต่างกันไป

ในฉบับหน้าคงได้กล่าวถึงมุมมองที่ประชาคมโลก มีต่อปรากฏการณ์ Brexit รวมไปถึงวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรเมื่อ Brexit มีผลบังคับสมบูรณ์ในปีหน้า

 

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3411 ระหว่างวันที่ 21 - 24 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62