กสทช. ร่วมลงนาม 5GMF เร่งพัฒนา 5G ไทย คาดใช้งานได้ปี 63

19 ต.ค. 2561 | 07:25 น.
กสทช. ผนึก 5GMF ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร 5G ไทย-ญี่ปุ่น ต้นปีหน้าเตรียมทดสอบใช้งานจริงที่แรกในสำนักงาน กสทช. พหลโยธิน

DSCF9632


นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวภายหลังจากที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ระหว่าง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และศาสตราจารย์กิตติคุณ Susumu YOSHIDA ประธาน 5GMF และองค์กร The Fifth Generation Mobile Communication Promotion Forum (5GMF) แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกัน หรือ LoI (Letter of Intent) เพื่อสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทดลองใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคก่อนการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำมาพิจารณาปรับใช้ในประเทศไทย เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ฯลฯ โดยตั้งเป้าว่า ในปี 2563 จะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานในไทย

"การที่รัฐบาลมีเป้าหมายให้ไทยใช้เทคโนโลยี 5G ในปี 2563 ทำให้ต้องรีบเตรียมการ เพราะเหลือเวลาไม่มาก ประเด็นที่ต้องเร่งให้ได้ข้อสรุป คือ การเลือกย่านความถี่ที่เหมาะสมในการนำมาใช้ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ (Vender) ด้วยว่าจะมีอุปกรณ์ หรือ แอพพลิเคชัน เพียงพอในการรองรับการใช้งานหรือไม่ รูปแบบอย่างไรที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนไทย โดยต้องมีการวางกรอบระยะเวลาการพัฒนา 5G ที่ชัดเจน ซึ่ง กสทช. คาดว่าจะสามารถกำหนดไทม์ไลน์ออกมาได้ก่อนการทดลองระบบ 5Gในช่วงต้นปีหน้า" นายประเสริฐ กล่าว


DSCF9635

ด้าน นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้นั้น มีความเกี่ยวโยงกันในเรื่องของ IoT (Internet of Things) ด้วยการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), สภาพัฒน์ ฯลฯ ที่ต้องมีการพูดคุยและทำงานร่วมกับอีกหลายประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานกลางออกมา เพื่อรองรับการใช้งานของแต่ละประเทศได้พร้อมเพรียงกัน รวมถึง 5G ที่จะทำงานร่วมกันทั่วโลกด้วยมาตรฐานเดียวกัน ตั้งเป้าไว้ปีหน้าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติม ซึ่ง กสทช. เน้นในเรื่องของการกำกับดูแลในภาคส่วนของการสื่อสารและโทรคมนาคมและส่วนที่จำเป็นต้องมีการควบคุม โดยจะไม่แทรกแซงการทำงานของหน่วยงานอื่น

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. จะให้มีการทดสอบการรบกวนสัญญาณจากการนำคลื่นความถี่มาใช้ร่วมกับ 5G รวมถึงแอพพลิเคชันที่จะนำไปใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรม สำหรับศูนย์ทดสอบ 5G นั้น ทาง กสทช. ได้เสนอให้มีการปรับปรุงพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร ของสำนักงาน กสทช. พหลโยธิน ซอย 8 เพื่อทำโครงการ NBTC FIRST จากการให้ความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์ โดยจะนำคลื่นความถี่ย่าน 3.5 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ มาทดลองใช้ภายในพื้นที่สำนักงานเป็นที่แรก


e-book-1-503x62