กรุงไทยลุยพัฒนา OCR เตรียมใช้ "แชตบอต" โต้ตอบลูกค้า คาดใช้งานจริงปี 62

21 ต.ค. 2561 | 04:19 น.
กรุงไทยหนุนเด็ก สจล. พัฒนา OCR และแชตบอตโต้ตอบลูกค้า คาดปี 62 พร้อมใช้งานจริง ตั้งเป้าเลิกรับเอกสารแบบกระดาษ มุ่งสู่โลกดิจิตอลทำธุรกรรมการเงินผ่านแอพ วิเคราะห์ และอนุมัติสินเชื่อได้ภายในไม่กี่นาที

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า การจัดงาน International Seminar on Technology for Sustainability 2018 หรือ ISTS 2018 ในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์เสมือนชีวิตการทำงานจริง ที่ผู้แข่งขันต้องร่วมกันวางแผนการจัดการเวลา การทำงานเป็นทีม ในรูปแบบแฮกกาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นการบูรณาการกิจกรรมแฮกกิ้ง (Hacking) และการประชุมเชิงปฏิบัติการทางเทคนิค (Technical Workshops) แบบมาราธอน 7 วัน ภายใต้ธีม "Innovation Hackdiator : Solution for Sustainability Challenge" โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 30 ทีม จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จะได้รับโจทย์ปัญหาจาก 5 องค์กรธุรกิจ คือ 1.นวัตกรรมเพื่อธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ 2.ระบบแสดงผลข้อมูลสำหรับสิ่งแวดล้อม 3.แชตบอตปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ้านอัจฉริยะ 4.เทคโนโลยีที่ทำให้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิม ๆ เปลี่ยนไป 5.โดรนเพื่อการบริหารจัดการแวร์เฮาส์ ทุกทีมต้องใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรม เพื่อสร้างบริการที่มีคุณค่าสูง หรือ High Value Service ให้กับธุรกิจ

 

[caption id="attachment_335032" align="aligncenter" width="482"] ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี[/caption]

ด้าน ดร.ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยต้องการที่จะพัฒนา "เอไอแชตบอต" เพื่อนำมาพัฒนาการให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น โดยการแข่งขันจะมีผู้เชี่ยวชาญจาก Krungthai Innovation Lab ของธนาคารมาเป็นผู้สนับสนุนและให้คำแนะนำเชิงเทคนิคแก่ทีมผู้เข้าแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยี Thai Optical Character Recognition (Thai-OCR) หรือ ระบบการประมวลผลข้อความ โดยการแปลงไฟล์ภาพเอกสารให้เป็นไฟล์ข้อความโดยอัตโนมัติ และจัดเก็บข้อมูลเป็นภาษาไทย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี AI Chatbot หรือ ระบบสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติ

ขณะที่ ในการทำธุรกรรมแบบเดิมนั้น ต้องใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ อาทิ การขอสินเชื่อ แต่การนำแชตบอตและ OCR มาใช้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ ด้วยการถ่ายรูปเอกสารที่ต้องใช้ส่งผ่านแอพพลิเคชันของธนาคาร ซึ่งเอไอแชตบอตจะช่วยในการตรวจสอบเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูล และสามารถทราบผลการอนุมัติได้เพียงไม่กี่นาที จากปกติที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรับส่งเอกสารในแบบกระดาษอย่างน้อย 7 วันทำการ

"ทั้งนี้ OCR เป็นจุดอ่อนของทุกองค์กรที่ยังมีการใช้กระดาษ แต่หัวข้อที่นำมาให้นักศึกษาได้ทดลองทำ คือ การต้องการเปลี่ยนโลกทางกายภาพ (Physical World) ให้เป็นโลกของดิจิตอล (Digital World) ซึ่งในการแข่งขัน กรุงไทยต้องการดูว่า เด็กรุ่นใหม่มีไอเดียที่ตรงกับที่เราคิดหรือไม่ รวมถึงมองหาว่า เด็กคนไหนที่มีความสามารถและศักยภาพมากพอ ก็อยากจะให้เข้ามาร่วมงานกับกรุงไทยในอนาคตอีกด้วย มีเด็กหลายคนที่สามารถทำได้เหนือความคาดหมาย ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถที่หลากหลายแตกต่างกัน" ดร.ธีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล หากต้องใช้แชตบอตในการรับส่งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า จะมีโปรโตคอล และการเข้ารหัส (Encryption) ที่สามารถเชื่อถือได้ในเรื่องของความปลอดภัยมากกว่าการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า เริ่มแรกนั้นจะมีการใช้ OCR แชตบอตเพื่อเก็บข้อมูลภายในองค์กรก่อน ในการไอเดนทิฟายตัวตน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด ทั้งนี้ การทำ OCR ภายนอกองค์กร คาดว่าจะสามารถใช้ได้ไม่เกินปี 2562


203411-1

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อ "แชตบอต" หรือ เอไอ เข้ามาทำงานบางอย่างแทนแรงงานคน อาจทำให้พนักงานต้องมีการเปลี่ยนหน้าที่ไปทำอะไรที่เป็นการริเริ่มหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะ "เอไอ" ปัจจุบันสามารถทำหลายอย่างได้ดี แต่ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องของการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้ ซึ่งกรุงไทยเองเชื่อว่า ทรัพยากรมนุษย์นั้นยังมีความสำคัญอยู่ เพราะยังต้องพึ่งพาการใช้ทั้งคนและแชตบอตในการตรวจสอบแบบไฮบริดควบคู่กันไป เพื่อลดความผิดพลาด

ผศ.อัครเดช วัชระภูพงษ์ ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ละบริษัทได้มีการกำหนดโจทย์ตามเป้าหมายและความต้องการที่แตกต่างกัน การพัฒนาแชตบอตให้สามารถโต้ตอบกับบุคคลในด้านต่าง ๆ ที่ยาก คือ เรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาไทย เพราะสามารถพลิกแพลงได้ สิ่งที่ได้จากงานนี้ คือ ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมจากเด็กในแต่ละประเทศที่นำมาแลกเปลี่ยนกัน แชตบอตเป็นเพียงแค่ช่องทางหนึ่ง แต่สุดท้ายต้องดูว่า เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ อย่างไร


หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,411 ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

595959859