ถอดบทเรียน‘เซียร์ส’ล้มละลาย ปิดตำนาน 125 ปี ยักษ์ค้าปลีกมะกัน

23 ต.ค. 2561 | 05:26 น.
ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 125 ปี รอดจากสงครามโลกมา 2 ครั้ง ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1920 มาแล้วแบบผู้ชนะ แต่เซียร์ส โฮลดิ้งส์ (Sears Holdings) ยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกสหรัฐฯ ซึ่งสร้างชื่อกับการเป็นผู้บุกเบิกกลยุทธ์ขายสินค้าผ่านแค็ตตาล็อก กลับสิ้นลายไปต่อไม่ไหวในปี 2561 นี้เอง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 ต.ค.) ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 4,556 ล้านบาท เซียร์สยื่นขอความคุ้มครองจากศาลภายใต้กฎหมายล้มละลาย พร้อมเสนอแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งครอบคลุมถึงการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรเพิ่มอีก 142 สาขาภายในสิ้นปีนี้ (ในจำนวนนี้จะเป็นการปิดห้างเคมาร์ท 63 สาขา และปิดเซียร์ส 79 สาขา) หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนสาขาร้านค้าปลีกที่บริษัทมีอยู่(ทั้งภายใต้ชื่อ “เซียร์ส” และ “เคมาร์ท”) บริษัทยังมีแผนจะขายสินทรัพย์บางส่วนเพิ่มเติมอีก ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่าอาจจะหมายถึงการขายแบรนด์ร้านค้าปลีกในเครือที่ยังมีอยู่อีก 2 แบรนด์ คือ เค็นมอร์ และโฮม เซอร์วิสเซส หลังจากที่เคยตัด 3 แบรนด์แยกออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ แลนด์ส เอ็นด์ (ธุรกิจค้าปลีกผ่านแค็ตตาล็อก), คราฟท์แมน และเซียร์ส แคนาดา

ภายใต้กฎหมายล้มละลายบทบัญญัติที่ 11 (Chapter 11)ของสหรัฐฯ บริษัทที่ยื่นขอความคุ้มครอง มีความประสงค์ที่จะขอฟื้นฟูกิจการของตน โดยหยุดพักการชำระหนี้ไว้ชั่วคราวภายใต้การดำเนินงานตามปกติ

การแข่งขันในแวดวงค้าปลีกนั้นนับว่าดุเดือดและไม่มีที่ยืนสำหรับผู้ที่ก้าวช้า ย้อนไปในปี 2548 เซียร์สมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกของสหรัฐฯอยู่ 2% แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 0.3%  ขณะที่ยอดขายลดลงมากกว่าครึ่งจาก 53,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2549 เหลือไม่ถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว (2560) และภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัททยอยปิดสาขาไปแล้วกว่าพันสาขา จากที่เคยมีอยู่ 1,980 สาขาทั่วประเทศในปี 2556 ปัจจุบันเหลืออยู่ทั้งหมดไม่ถึง 866 สาขา (ข้อมูล ณ 13 กันยายน 2561)

หันมาดูด้านบัญชีงบดุลพบว่า บริษัทมีสินทรัพย์มูลค่ารวมประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มียอดรวมภาระหนี้สินสูงถึง 11,300 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 384,200 ล้านบาท

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจซีอีโอ

เอดเวิร์ด เอส. แลมเพิร์ท ผู้บริหารของเซียร์ส ซึ่งเป็นอดีตนักบริหารการเงินจากวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเซียร์ส เมื่อปี 2556 หลังลาออกจากโกลด์แมน ซากส์ แลมเพิร์ทมาก่อตั้งบริษัท อีเอสแอล อินเวสต์เมนต์ บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ด้วยเงินทุนก่อตั้งที่มีผู้ให้มา 28 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีเขาสามารถสร้างรายได้ต่อปีหลักพันล้านดอลลาร์ และทำให้ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นผู้จัดการกองทุนที่มีการซื้อขายกันในตลาดวอลล์สตรีตคนแรกที่สามารถทำรายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 1 ปี เขาถูกนิตยสารไทม์ จัดเข้าทำเนียบ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกในแง่บุคคลที่มีความคิดบรรเจิดที่สุดในวอลล์สตรีต และกลายเป็นบุคคลที่รํ่ารวยที่สุดในมลรัฐคอน เนกติกัตในปี 2549 ด้วยสินทรัพย์ส่วนตัว 3,800 ล้านดอลลาร์

[caption id="attachment_335021" align="aligncenter" width="503"] เอดเวิร์ด เอส. แลมเพิร์ท เอดเวิร์ด เอส. แลมเพิร์ท[/caption]

แลมเพิร์ทให้เหตุผลถึงชะตากรรมของเซียร์สที่ดำดิ่งลงจนถึงจุดอับเฉาที่สุดในยุคที่เขาเป็นผู้บริหารสูงสุดและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดว่า เป็นเพราะสื่อไม่เข้าข้าง (และเขาเองก็ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ) ซํ้าพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ไหนจะถูกเบียดเบียนส่วนแบ่งตลาดโดยผู้ค้าออนไลน์อีก เมื่อผลประกอบการของเซียร์สยํ่าแย่ลง เขาเลือกที่จะใช้วิธีตัดสินทรัพย์ที่ทำกำไรได้ดีขายออกไป และแยกธุรกิจที่พอจะทำกำไรออกไปตั้งเป็นบริษัทเอกเทศโดยมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของเขาเข้าไปถือหุ้น ในช่วงเวลาที่เซียร์สยอดขายดำดิ่ง บริษัทได้รับเงินกู้อัดฉีดจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของแลมเพิร์ทอีกนั่นเอง ที่นำมาใช้จ่ายหมุนเวียนแต่ก็ไม่สามารถหลุดออกจากบ่วงของปัญหา อีเอสแอล อินเวสต์เมนต์ ปล่อยกู้ให้กับเซียร์สมาแล้วกว่า 300 ล้านดอลลาร์และรับปากจะให้กู้เพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์กล่าวว่าแลมเพิร์ทลงทุนไม่ตรงจุด หลายสาขาของเซียร์สถูกปล่อยทิ้งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ผนังและเพดานลอก ป้ายราคาถูกเขียนด้วยมือ ห้องนํ้าบางสาขาใช้ไม่ได้ สะท้อนถึงการขาดเงินทุนสำหรับการซ่อมบำรุง ชั้นวางสินค้าหลายแห่งว่างเปล่าซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ซัพพลายเออร์ขอปรับเงื่อนไขการวางสินค้าและการชำระเงิน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงถอนสินค้าออกไป นอกจากนี้ บริษัทยังไม่ลงทุนกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อสู้ศึกกับคู่แข่งอย่างจริงจัง

ห้างเซียร์สที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกที่ผูกพันกับชีวิตผู้บริโภคอเมริกันมายาวนาน วันนี้กลับด้อยไปหมดทุกด้านของงานบริการและไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป แม้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายล้มละลาย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าแม้จะปิดและขายทิ้งหลายสาขา ก็ไม่อาจกู้คืนชีวิตของผู้ป่วยขั้นโคม่าอย่างเซียร์สกลับคืนมาได้ คล้ายๆ กับกรณีของทอยส์ อาร์ อัส ที่หั่นราคาสินค้าเพื่อเลิกกิจการบางสาขาเช่นกันเมื่อต้นปีนี้ และยังเข้าสู่แผนฟื้นฟูภายใต้สถานะล้มละลายเหมือนๆ กัน แต่สุดท้าย ทอยส์ อาร์ อัส ก็ถึงทางตัน ไม่อาจกลับคืนสู่สังเวียนการแข่งขันอย่างที่เคยประกาศไว้เหลือไว้แต่เพียงอดีตที่เคยรุ่งโรจน์เท่านั้น

 

บทความ |หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,411 ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

595959859