เปิดผลศึกษาศักยภาพ "รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ"

18 ต.ค. 2561 | 11:42 น.
181061-1834

ผลศึกษาศักยภาพรันเวย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย บริษัท ลีดดิ้ง เอดจ์ เอวิเอชั่น แพลนนิ่ง โปรเฟสชั่นนอลส์ฯ ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2549 พบว่า จากการวิเคราะห์การคาดการณ์การจราจรทางอากาศ ประกอบกับผลศึกษาขีดความสามารถของรันเวย์ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2535 ชี้ว่า ขีดความสามารถของรันเวย์ที่วางแผนไว้ภายใต้แม่บทปี 2536 จะถึงจุดที่ "ไม่เพียงพอ" นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป รันเวย์ที่วางแผนไว้ใต้แผนแม่บท 2536 จะไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีถึงปีละ 100 ล้านคน

เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ของ ทอท. ประกอบกับผลการศึกษาขีดความสามารถฉบับเก่าที่ทำไว้ในปี 2535 พบว่า จำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ระดับ 78 ล้านคนต่อปี เมื่อรันเวย์ที่ 4 เริ่มใช้งาน จะเป็นระดับที่รับได้มากที่สุด ซึ่งไม่สามารถรองรับตัวเลขคาดหมายจำนวนขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 100 ล้านคนต่อปีของอาคารที่พักผู้โดยสาร เนื่องจากขีดความสามารถของรันเวย์มีไม่พอ


20160503-151823-o2q6pd6vt6JnDsOKWed-o


หลังจากการพัฒนาสนามบินมาถึงขั้น 4 รันเวย์ภายใต้แผนแม่บท ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในแผนแม่บทสำหรับการสร้างรันเวย์ หรือ อาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของการจราจรทางอากาศในอนาคตระยะยาวอีกเลย ดังนั้น ทางเลือกในอนาคตสำหรับ ทอท. ก็อาจจะเป็นการขยายสนามบินใหม่ การโยกย้ายบางส่วนงาน เช่น บริการเที่ยวบินภายในประเทศและสายการบินต้นทุนต่ำไปไว้ที่สนามบินดอนเมืองในเวลาอันรวดเร็ว หรือ สร้างสนามบินนานาชาติในกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 ขึ้นมา

รายงานการศึกษาฉบับนี้ยังได้ศึกษาถึงประโยชน์ของการสร้างรันเวย์ที่ 4 ในลักษณะรันเวย์กว้าง (Wide-Spaced Option) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสนามบินด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากลักษณะรันเวย์แบบ Close-Spaced ที่ระบุไว้ในแผนแม่บท เนื่องจากจะสามารถตอบโจทย์การรองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากกว่ารันเวย์แบบ Close-Spaced

นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงข้อดีของการสร้างรันเวย์ที่ 5 และ 6 บนที่ดินทางทิศตะวันออกของสนามบินในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการจำลองสถานการณ์จริงของสนามบิน พบว่า แม้จะพัฒนาไปถึงขั้นมี 4 รันเวย์ ตามที่แผนแม่บทวางไว้ แต่ขีดความสามารถของพื้นที่รันเวย์ก็จะสามารถรองรับการจราจรทางอากาศและผู้โดยสารได้เต็มที่ถึงปี 2556 เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ ทอท. ประเมินว่าจะมียอดผู้โดยสาร 64 ล้านคนต่อปี ส่วนกรณีที่มีการสร้างรันเวย์ที่ 4 เป็นแบบรันเวย์กว้าง คาดว่าขีดความสามารถของรันเวย์จะเพียงพอรองรับการสัญจรและผู้โดยสารได้ประมาณปี 2561-2563 ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะสูงถึง 86.1-91 ล้านคนต่อปี


aot2


การศึกษายังพบว่า จากการสร้างสถานการณ์จำลอง หากมีการสร้างรันเวย์ที่ 5 ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น แบบรันเวย์กว้าง หรือ เป็นแบบ Close-Spaced เป็นเลนคู่ขึ้นมาบนพื้นที่ด้านตะวันออกของสนามบินปัจจุบัน ขีดความสามารถของพื้นที่รันเวย์ก็จะสามารถรองรับการจราจรทางอากาศและผู้โดยสารได้ราว ๆ ปี 2562-2565 เท่านั้น ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ระดับ 90-101 ล้านคนต่อปี

บริษัทที่ปรึกษามีข้อเสนอแนะให้ ทอท. จัดสรร หรือ กันพื้นที่ทางทิศตะวันออกของสนามบินเอาไว้ เพื่อที่จะสามารถขยายพื้นที่สนามบินในอนาคต สำหรับการขยายรันเวย์และขยายงานบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 - 20 ต.ค. 2561 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'สุวรรณภูมิ' ส่ออัมพาต! หวั่นสูญลงทุนแสนล้าน-ขยาย 4 รันเวย์ รับ 150 ล้านคน
ขยายสุวรรณภูมิ  AOT ต้องรอบคอบ


เพิ่มเพื่อน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก