IFTF แนะคนไทยพัฒนาทักษะอยู่ร่วมกับ AI

18 ต.ค. 2561 | 08:44 น.
IFTF แนะไทยพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างเป็นมิตร พร้อมเรียนรู้การใช้งาน และนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ และสร้างโอกาสเพิ่มมูลค่าให้กับข้อมูลที่มีอยู่ในมือ

นายฌอน เนส ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจสถาบันเพื่ออนาคต (Institute for the Future - IFTF) สหรัฐอเมริกา สถาบันกลุ่มวิจัยอิสระที่ไม่หวังผลกำไร เปิดเผยว่า สิ่งที่สถาบันฯ ดำเนินการ คือ การคาดการณ์แนวโน้ม หรือ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้การสังเกตและติดตามข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยดูจากอิทธิพลของเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้านที่มีต่อมนุษย์ ควบคู่กับพฤติกรรมที่คนตอบสนองต่อกระแสเทคโนโลยีนั้น ๆ

ในอนาคตควรให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์ เพราะมนุษย์สำคัญกว่าเทคโนโลยี แม้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นจะมาช่วยทำงานแทนมนุษย์ แต่เทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อสร้างความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่าง ๆ ให้กับมนุษย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองได้ ด้วยการพัฒนาทักษะสำคัญติดตัวไว้ โดยในด้าน Hard Skills หากรู้วิธีรับมือกับหุ่นยนต์ หรือ รู้วิธีการสร้าง หรือ ระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ ย่อมมีความได้เปรียบกว่า และในด้าน Soft Skills มองว่า ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation) และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) จะเป็น 2 ทักษะสำคัญ ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้เท่าเทียมกับมนุษย์อย่างเรา เพราะสุดท้ายแล้ว มนุษย์ยังชอบพูดคุยและมีบทสนทนาระหว่างกันมากกว่าสื่อสารกับหุ่นยนต์

ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำหลักการมองภาพอนาคต (Foresight) มาเป็นเทคนิคในการวางแผนระยะยาว ที่สามารถนำมาใช้ในทุก ๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับองค์กร รวมถึงได้ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการมองภาพอนาคตมาใช้ในการวางนโยบายของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดำเนินอย่างเป็นระบบในการมองไปในอนาคตของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม เพื่อการส่งเสริมให้เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ ว่า เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นความพยายามของชุมชนชาววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่า (Value Creation) และการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งจะแตกต่างจากการทำนาย (Forecast) ที่สันนิษฐานอนาคตเพียงรูปแบบเดียว


090861-1927-9-335x503-8-335x503

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม Technology Innovation Management Group – TIMG) จัดงาน Outstanding Technologist Awards and STI Forum 2018 ขึ้นเป็นปีที่ 4 ภายใต้หัวข้อหลัก "Future Thinking" โดย "ฌอน เนส" ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจสถาบันเพื่ออนาคต (Institute for the Future - IFTF) สหรัฐอเมริกา เป็นสถาบันกลุ่มวิจัยอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ที่ค้นคว้าข้อมูลในอนาคต ช่วยให้ภาครัฐและภาคธุรกิจต่าง ๆ สามารถวางแผนและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ดีขึ้น โดยภารกิจของ IFTF คือ การเป็นผู้นำด้านความคิดให้กับหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ได้วางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคต ศึกษาข้อมูลเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำมาวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยสถาบันฯ มีประสบการณ์ด้านการมองอนาคตมากว่า 50 ปี รวมถึงเทรนด์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การตลาดเซลล์สมองมนุษย์ (Neuromarketing) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เป็นต้น ภายในงานรวบรวมเอามุมมองของนักคิดและวิเคราะห์เชิงปฏิบัติที่ช่วยประยุกต์และตอบโจทย์การพัฒนาองค์กรได้จริง

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและขาดอำนาจการต่อรอง จึงจำเป็นต้องกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดปัญหาของประเทศ ทีเอ็มเอ (TMA) จึงร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ระดมทีมคณะกรรมการเฟ้นหา "นักเทคโนโลยีดีเด่น" และ "นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่" เพื่อคัดสรรนักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้คำนึงถึงศักยภาพและความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงาน "นักเทคโนโลยีดีเด่น" กว่า 28 โครงการ และผลงานของ "นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่" 35 โครงการ ซึ่งได้คัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่น และเข้ารอบสุดท้ายรวม 6 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ "นักเทคโนโลยีดีเด่น" เข้ารอบ 4 ผลงาน ได้แก่ ระบบควบคุมแรงดันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ Redundancy Fully Redundancy EGAT-AVR, เทคโนโลยีวิศวกรรมถนนและขนส่งที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับความปลอดภัยของโครงข่ายถนนและสนับสนุนแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ, เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ และในส่วนของ "นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่" เข้ารอบ 2 ผลงาน ได้แก่ เอนอีซ เอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสังเคราะห์ซิลิกาแอโรเจลชนิดทรงกลม โดยล้วนเป็นผลงานของนักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเหมาะสำหรับเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยที่มีความมานะ อุตสาหะให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

595959859