"ชมรมเภสัชกรใต้-12 เครือข่ายวิชาชีพฯ" จี้ถอนร่าง "พ.ร.บ.ยา"

18 ต.ค. 2561 | 07:36 น.
วันที่ 18 ต.ค. 2561 เวลา 11.30 น. ที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ ชมรมเภสัชกรภาคใต้ และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม รวมเป็น 12 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม อันได้แก่ ชมรมเภสัชกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธาณสุขจังหวัดภาคใต้, สมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กลุ่มเภสัชกรการตลาดภาคใต้, สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย), สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นัดหมายแสดงออกซึ่งการคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา และออกแถลงการณ์ให้ถอน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับเดือน ต.ค. 2561 : ฉบับเสนอคณะรัฐมนตรี) โดยมีเภสัชกรจากหลายพื้นที่ในภาคใต้รวมตัวใส่ชุดฟอร์มเภสัชกร รวมตัวกันแสดงออกถึงการคัดค้านและให้ถอนร่างออกไป เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บิดเบือน ขาดความชอบธรรมในการส่งร่างเข้าสู่คณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ภญ.สุจิตา กุลถวายพร ประธานชมรมเภสัชกรภาคใต้ ได้เป็นตัวแทน 12 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมในภาคใต้ อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน โดยสาระสำคัญในแถลงการณ์ได้ระบุเหตุผลที่จำเป็นต้องให้ถอน ดังนี้

"เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขาดความชอบธรรม หมดความน่าเชื่อถือในการเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญในหลักการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยด้านยาแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ด้วยการนำร่างออกรับฟังที่เปลี่ยนไปมา ไม่แน่นอน อีกทั้งนำมาตราอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นไว้ มาเติมใส่เอง โดยไม่ผ่านความเห็นชอบมาก่อน นำความเห็นของชมรมเภสัชกรภาคใต้ไปบิดเบือนในร่างที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ว่า ทางชมรมเภสัชกรภาคใต้ เห็นด้วย ทั้ง ๆ ที่ได้แสดงจุดยืนคัดค้าน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ดังกล่าวตลอดมา รวมถึงชี้แนะข้อบกพร่องร้ายแรงของร่างกฎหมายตามที่ได้นำเสนอไปแล้ว จึงสมควรอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างเปิดเผย"

 

[caption id="attachment_334656" align="aligncenter" width="503"] ©qimono ©qimono[/caption]

และทางชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ได้เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา "ให้ถอนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับเสนอคณะรัฐมนตรี) ออกไป และไม่ส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำกลับมาปรับปรุงตามที่ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แนะนำไว้ ทั้งนี้ หากไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมใด ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทั้ง 12 องค์กรในภาคใต้ จะยกระดับการแสดงจุดยืนร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทุกภาคของประเทศไทย เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับเสนอคณะรัฐมนตรี) อย่างถึงที่สุด"

ภก.จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และกรรมการชมรมเภสัชกรภาคใต้ ได้กล่าวว่า

"กระบวนการรับฟังความคิดเห็นขาดความชอบธรรม เพราะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยก (ร่าง) พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... โดยเปลี่ยน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ที่นำมารับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้จากฉบับรับฟังความเห็น ก่อน ม.ค. 2561, ม.ค. 2561, ก.พ. 2561, ก.ค. 2561 และเมื่อมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มบทบัญญัติที่กระทบถึงสาระสำคัญและไม่ใช่ข้อตกลงตามที่เคยมีการพูดคุยถึงข้อบกพร่องของร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ฉบับรับฟังความเห็นในเดือน ก.ค. 2561 มาก่อน"

และเสริมอีกว่า "อย. สอดไส้ร่างกฎหมายยาใน 2 ประเด็นใหญ่ ปรับประเภทยาในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ ครม. ให้ดูเหมือนเหลือยา 3 ประเภท ตามมาตรา 4 แต่หากดูทั้งร่าง พ.ร.บ.ยา จะพบยาประเภทที่ 4 ที่เรียกว่า ยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา ตามมาตรา 6(9) และส่งผลต่อการเกิดร้านขายยาพันธ์ใหม่ตามประเภทใบอนุญาตขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาที่จ่ายโดยเภสัชกรหรือยาตามใบสั่งยา โดยระบุไว้ในมาตรา 25(6) และเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านยาอย่างเพียงพอ อาศัยเพียงผ่านการอบรมจาก อย. ตามมาตรา 24(3) สามารถเปิดร้านยาพันธ์ใหม่ พันธุ์สะดวกซื้อ ทั้ง ๆ ที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ยา และไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ มาตรา 117 ยังถูกเขียนเพิ่มขึ้นใหม่ ทั้ง ๆ ที่มีความซ้ำซ้อนกับการกำกับตามมาตราอื่นบางส่วน แต่กลับสุ่มเสี่ยงต่อการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ทุกสาขาที่มีคลินิกสามารถจ่ายยาที่จ่ายโดยเภสัชกรได้"

595959859