รายงานภาวะส่งออกเดือนม.ค.59

25 ก.พ. 2559 | 08:12 น.
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมกราคม 2559

ตลอดปี 2558 สถานการณ์การค้าโลกได้เผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผ่านผลกระทบมาสู่มูลค่าการส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันที่ลดลงกระทบมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และกำลังซื้อของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรโลกอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งหลายประเทศใช้มาตรการลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งออก ทำให้ค่าเงินในประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทยมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาล้วนมีทิศทางอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่อส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมกราคมปี 2559 ยังคงเผชิญแรงฉุดรั้งสำคัญที่กดดันมูลค่าส่งออกจากปัจจัยสืบเนื่องจากปี 2558 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปีและราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้หลายสินค้าสำคัญมีมูลค่าส่งออกหดตัวแรงกว่าปริมาณส่งออกที่ลดลงพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีการส่งออกของไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มากโดยหากเทียบประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคอาเซียนไทยยังมีสถานการณ์ส่งออกที่ดีกว่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนิเซีย อีกทั้งข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก นอกจากนี้รายได้จากการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากผลของการอ่อนค่าของเงินบาท

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 563,423ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) กลับมาขยายตัวหลังจากเดือนธันวาคม 2558 หดตัวที่ร้อยละ -2.33 (YoY) ในขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 561,383

ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.75 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมกราคม 2559 ยังคงเกินดุล 2,040 ล้านบาท

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 15,711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -8.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำมูลค่าส่งออกจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -5.4 (YoY) โดยมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  ในขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 15,474 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -12.37 (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมกราคม 2559 ยังคงเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันมีมูลค่า 238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนมกราคม 2559 มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ -4.1 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคม 2559 นี้ ยางพาราหดตัวถึงร้อยละ –25.7 (YoY) เช่นเดียวกับ ทูน่ากระป๋อง(-15.1)  กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป (-19.2) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(-19.6) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(-2.3) หดตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออกพบว่า หดตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ที่ปริมาณส่งออกสินค้ายังคงขยายตัว แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง  ในขณะที่ ข้าว และน้ำตาลทราย มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.0 และ 25.8 (YoY) ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึงร้อยละ 68.5  และ 43.8 (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งในส่วนของการส่งออกลำไยสดและแห้งไปจีน อาเซียน กับสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดไปตลาดสหรัฐอเมริกา ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี โดยภาพรวมเดือนมกราคม 2559 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ -8.5  (YoY) ปัจจัยหลักยังคงมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 9.1  ของมูลค่าส่งออกหดตัวสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ -25.2 จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนมกราคม 2559 ลดมาอยู่ที่ระดับ 27.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 11 ปี รวมทั้งการส่งออกสินค้าทองคำหดตัวสูงถึงร้อยละ -51.2 (YoY) จากปัจจัยด้านราคาทองคำในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ หดตัวสูงขึ้นจากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต อย่างไรก็ดี กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยกลับมาขยายตัวในเดือนมกราคม 2559 ที่ร้อยละ 4.1 (YoY) โดยเป็นการเติบโตตามการขยายตัวของการส่งออกประเภทรถยนต์นั่ง ที่ขยายตัวสูงในตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง  ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่พบว่าไทยยังมีสถานการณ์ส่งออกที่ดีกว่าภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลกในเกือบทุกสินค้า

ตลาดส่งออก กลุ่ม CLMV ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2558 ขณะที่คู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอาเซียน (5) หดตัวจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ ในเดือนมกราคม 2559  การส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.2 (YoY) โดยกัมพูชา และลาว ยังขยายตัวสูงต่อเนื่องจากการค้าชายแดนเป็นสำคัญ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา หดตัวร้อยละ -8.5 (YoY) จากการลดลงของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป  และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ฯ เป็นต้น เช่นเดียวกับตลาด จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(15) และอาเซียน (5) ที่ลดลงร้อยละ -6.1 -10.1

-2.4 และ -14.9 (YoY) ตามลำดับ จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ารวมถึงการหดตัวของราคาสินค้า

โภคภัณฑ์ โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าและเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศ กระทบต่อสถานการณ์มูลค่าการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย

การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9.0 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 86,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.05 (YoY) ภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 12,584 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 15,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85 (YoY) ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนมกราคม 2559 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 101,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 (YoY)

ในภาวะที่การค้าไทยเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

1.ขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดอินโดจีนหรือ CLMV โดยกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการขยายโอกาสทางการค้า และใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

2.เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven)   หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกลงถึงในระดับเมือง (city focus)  มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (niche market) และช่องทางการค้าออนไลน์

โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่จะมุ่งเจาะตลาดเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง  ได้แก่ มัณฑะเลย์  เมียวดี มะริด ทวาย  ไฮฟอง  ฮานอย  เกิ่นเทอ  เสียมราฐ  พระสีหนุ  เกาะกง  หลวงพระบาง  สะหวันนะเขต  จำปาสัก เซบู  ดาเวา  สลังงอ รวมถึงการเพิ่มความสำคัญของตลาดในเมืองหลวง/เมืองเศรษฐกิจหลัก โดยเน้นสินค้า/บริการแบรนด์ที่มีศักยภาพ  ได้แก่  ย่างกุ้ง พนมเปญ  โฮจิมินห์  เวียงจันทน์  จาการ์ตา  สิงคโปร์  กัวลาลัมเปอร์

3.ส่งเสริมการค้าบริการ (Trade in Services) โดยสนับสนุนภาคธุรกิจบริการให้เป็นแรงผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้า ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 6 กลุ่มธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ

4.ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ โดย ผ่านกลไกภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน รวมทั้งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นรายเมือง รวมถึง ขั้นตอน กฎระเบียบการลงทุน และมาตรการทางภาษี  สร้างเครือข่ายกับหน่วยงาน/นักธุรกิจ ในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

5.ผลักดันและแก้ปัญหาทางการค้าระร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีกลไกลขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้าทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ โดย พกค. จะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ