ค้านปลดล็อกดอกเบี้ย 15% หวั่นกระทบ ศก. !!

17 ต.ค. 2561 | 12:44 น.
171061-1931

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลั่น! เดินหน้าค้าน พ.ร.บ.นอนแบงก์ ถึงที่สุด ชี้ปลดล็อกดอกเบี้ย 15% เปิดทางเอาเปรียบผู้บริโภค สะท้อนรัฐล้มเหลวบังคับใช้กฎหมาย ด้าน ตลาดเช่าซื้อ-แบงก์มั่นใจ! สร้างมาตรฐานสินเชื่อ หลังเกิดเหตุผู้ประกอบการแปลงสัญญาเงินกู้คิดดอกเบี้ยสูง

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.นอนแบงก์ เพื่อกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภทที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแล ได้แก่ 1.ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทสินเชื่อ อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และ 2.ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าแบบลีสซิ่งและแฟกตอริง ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน โดยสำนักงานดังกล่าวจะกำกับดูแลใน 3 ประเด็น คือ วิธีการคิดอัตราดอกเบี้ย, การกำหนดค่าธรรมเนียม และการทวงหนี้นั้น ซึ่งจะทำให้สามารถคิดดอกเบี้ยได้มากกว่า 15%

 

[caption id="attachment_334362" align="aligncenter" width="503"] สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค[/caption]

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จนถึงที่สุด เพราะถือเป็นกฎหมายที่เปิดทางให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิม โดยประเด็นที่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ มีเรื่องเดียว คือ การเข้าไปกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่มีจำนวนมากอย่างจริงจัง

แต่ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย คือ 1.กระบวนการจัดทำกฎหมายได้มีการเปิดให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมหรือไม่ 2.ไม่เห็นด้วยที่ปลดล็อกให้ดอกเบี้ยสินเชื่อเกิน 15% เพราะจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค คิดว่าควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 15% เท่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่รัฐยอมให้นาโนและพิโกไฟแนนซ์คิดดอกเบี้ยได้ถึง 36% แล้ว

นางสาวสารี กล่าวอีกว่า น่าสนใจว่า ทำไมรัฐไม่สามารถทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงได้ แต่กลับจะทำให้เก็บได้มากขึ้น ซึ่งต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังไม่ถึง 1% ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหากับเศรษฐกิจต่อไป เพราะระยะห่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ห่างกันมากกว่าเดิม ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่า ออกกฎหมายเพราะมีค่าธรรมเนียมแฝงอยู่ในสินเชื่อ ทำให้ดอกเบี้ยเกิน 15% อยู่แล้ว "นั่นแสดงว่า คุณไม่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เพราะดอกเบี้ยสูงเกิน"


app12994452_s

"เราไม่มีปัญหาเรื่องที่รัฐจะไปกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อ เราเห็นด้วย แค่ควรยึดบรรทัดฐานดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ เรายอมรับได้ที่ 15% และควรอยู่เท่าเดิม” แต่ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นจริง คุณต้องทำจริยธรรมให้สูงขึ้นสิ ไม่ใช่ยอมลดจริยธรรมลง 15% เพียงพอ เพราะถ้าระยะห่างเงินกู้กับเงินฝากห่างกันมากขึ้น ธปท. ก็ควรจะกำกับดูแล ไม่ให้ห่างกันอยู่แบบนี้ ยืนยันว่าจะค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด"

ด้าน นายวัฒนพร พิทักษ์ศักดิ์เสรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ในหลักการของกฎหมายมุ่งกำกับดูแลผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ ซึ่งทำธุรกรรมทางการเงิน โดยยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งส่วนตัวมองว่า มีประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะนอกจากผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนดำเนินธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยต้องมีการประกาศประเภทสินเชื่อที่ให้บริการ รวมถึงวิธีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่า 15% ต่อปี

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจมีการฉวยโอกาสคิดดอกเบี้ยทั้งเป็นธรรมและไ่ม่เป็นธรรม โดยเป็นธุรกิจที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ 15% สิ่งที่เห็นชัดที่สุด คือ สินเชื่อจำนำทะเบียน มีบางรายคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 36% และเปลี่ยนรูปแบบสัญญาเงินกู้ค้ำประกัน ซึ่งหากเป็นเงินกู้กรณีที่สินทรัพย์ค้ำประกันจะคิดดอกเบี้ย 15% ซึ่งการให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าให้เช่าแบบลีสซิ่ง/แฟกตอริง ขาดมาตรฐานและผู้บริโภคจำนวนมากยังขาดความรู้ จึงทำให้ถูกเอาเปรียบโดยทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม


06-SN-MCC-Decision-ara

"เป็นผลดีต่อระบบสินเชื่อ แต่ในแง่ผู้ประกอบการจะมีทั้งผลบวกและลบ เช่น ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ปกติบริษัทเช่าซื้อที่เป็นบริษัทในเครือของสถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ย 11-15% แต่นอนแบงก์คิด 28% บางแห่งคิด 36% เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีความชัดเจนอัตราดอกเบี้ยจะถูกกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น อาจจะมีส่งผลเชิงลบต่อผู้ประกอบการที่เดิมดำเนินธุรกิจ โดยไม่กำหนดเพดานดอกเบี้ย จะต้องถูกกำกับ"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,409 วันที่ 14 - 17 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง แนะเตรียมรับมือสงครามการค้าและดอกเบี้ยขาขึ้น
ดอกเบี้ยขึ้น 50 สตางค์เพิ่มภาระผ่อนกว่า 4%


เพิ่มเพื่อน
ติดตามฐาน