ทางออกนอกตำรา : คดีฟอกเงิน ‘โอ๊ค’ ถึง ‘มานพ ทิวารี’ ฤาระบบยุติธรรมไทยจะเลวร้าย

17 ต.ค. 2561 | 13:29 น.
โอ๊ค

 
“ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม”

เป็นวาทกรรมบันลือโลกที่ มงแต็สกีเยอ นักคิด นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีด้านการเมือง ชาวฝรั่งเศส ได้รังสรรค์ขึ้นมาจากประสบการณ์ทางการเมือง กำลังกลายเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของเมืองไทยอีกครั้ง

8 กันยายน 2561 พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความนี้ไว้ โดยระบุว่า...ขณะนี้ได้มีเอกสารหลุดอีกฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องตัวผมโดยตรง ซึ่งเป็นของอดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ว่าได้รับคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ทั้งที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ผู้สั่งการทราบแล้วว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้ ไม่ได้มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีได้ เป็นเหตุให้ตนเองต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งรองอธิบดีไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี

“ ...จะตรวจสอบคดีแบงก์กรุงไทย ซึ่งมีการกู้เงินนับหมื่นล้านบาท แทนที่จะไปตรวจสอบองค์กรที่ได้รับผลประโยชน์ก้อนใหญ่ หรือรายชื่อนายทหาร นายตำรวจ และบุคคลองค์กรอื่นๆ อีกกว่า 300 ธุรกรรม กลับไม่สนใจจะตรวจสอบ แต่กลับมาสั่งการกับผู้ปฏิบัติแบบเน้นๆให้จ้องเอาผิดกับธุรกรรมทางการเงินจำนวน10 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 0.1% ของจำนวนเงินทั้งหมด เพียงเพราะว่าเป็นธุรกรรมทางการเงินของลูกอดีตนายกฯ ที่ตัวเองตั้งธงเอาไว้แล้วว่า จะต้องยัดเยียดความผิดให้ได้” ข้อความของนายพานทองแท้ ระบุเช่นนี้
S__45285440 10 ตุลาคม 2561 สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นพ้องตามอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สั่งฟ้อง พานทองแท้ ในคดีร่วมกันฟอกเงินทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อธนาคารกรุงไทย กับ กลุ่มกฤษดามหานคร 10,400 ล้านบาท ท่ามกลางญาติพี่น้อง บรรดาอดีต ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาคอยให้กำลังใจจำนวนมาก

ผมลองไล่เลียงเท่าที่เห็น อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยโภคิน พลกุล ชูศักดิ์ ศิรินิล นพดล ปัทมะณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง สามารถ แก้วมีชัย

มหากาพย์เงินกู้ภาคพิสดาร ซึ่งศาลฎีกาสั่งจำคุกคณะผู้บริหาร กรรมการธนาคาร และกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท กฤษดามหานครฯไปถึง 27 คน กำลังเดินมาอีกฉากหนึ่ง ที่มีการลาก “ทายาทตระกูลชินวัตร” เข้าไปเกี่ยวพันกับ “กรรม” ที่เกิดจากการกระทำในอดีต

เรื่องนี้เป็น “บรรทัดฐานของหลักกฎหมายที่คนไทยต้องติดตาม” ไม่เพียงเพราะจะเป็นบททดสอบแนวคิดของ มงแต็สกีเยอว่า “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” เท่านั้น

แต่ยังสะท้อนถึงพฤติกรรมการกระทำของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยว่า ต่อไป“การกินเงินปากถุงจากการปล่อยกู้ให้ลูกค้าแต่ละราย” จะต้องมีจุดจบอย่างไร ชีวิตของ“พานทองแท้” กำลังเดินไปสู่วิถีแห่งผู้ต้องหาที่บรรดาทายาทเศรษฐีมิพึงปรารถนาจะเข้าใกล้
TV-2 คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนที่มีการกล่าวหา วิชัย กฤษดาธานนท์ กับพวก 13 คน กระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน เกี่ยวกับการโอนและรับการโอนธุรกรรมทางการเงินที่ได้จากการอนุมัติสินเชื่อธนาคารกรุงไทย โดยมิชอบ เป็นจำนวนหลายรายการให้พนักงานอัยการ

ต่อมาในช่วงวันที่ 4 กันยายน 2561 พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้นำพยานหลักฐานสั่งคดีฟ้องนายวิชัย กับพวก รวม 13 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปแล้ว

แต่ที่ฮือฮาคือ ปรากฏการณ์ของการเกิดเหตุ “อัศจรรย์พันลึก” ขึ้นในคดีนี้ ที่ฮือฮากันในสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในอดีตเคยมีปรากฏการณ์ “ถุงขนม” หล่นใส่มือเจ้าหน้าที่ในศาลมาครั้งหนึ่ง ตอนนี้มี “ถุงขนมหล่นใส่มือเจ้าหน้าที่อัยการ” จนเกิดปรากฏการณ์ฮือฮาเมื่อจำเลยคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ “มานพ ทิวารี” ผู้ที่เกี่ยวพันกับการรับเงินก้อนหนึ่ง 154.76 ล้านบาท เข้าบัญชีตัวเองแล้วอ้างว่า เป็น “สัญญาเงินกู้” กลับ “หลุดคดีโดยสุจริต” เพราะอัยการไม่สั่งคดี...

หลุดไปจาก “การสั่งคดี” แบบทำเอาหลายคนอ้าปากค้าง ไม่เหมือนบุคคลอื่นอีก6 คน ที่อัยการสั่งคดีฟ้องไปเรียบร้อยโรงเรียนอัยการ แต่ “ผู้ต้องหาคนที่ 4” ตามหนังสือส.1 เลขรับที่ 11/2561 บันทึกรับวันนัด ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่ นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ เป็นผู้นัด กลับหลุดคดีไปดื้อๆ
จดหมาย นายมานพ ทิวารี นั้นเป็นผู้ได้รับเช็คจากบริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และเงินที่มีการโอนเข้าบัญชีก่อนหน้านี้ ซึ่งนายมานพ ระบุว่ายืมมาจากนายวิชัย รวมเป็นเงิน 172 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด

ทั้ง ๆ ที่เส้นทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นพบว่า นายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต.ศิธา ทิวารี ได้นำเช็คของบริษัทแกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของจำเลยที่ 20 จำนวน 154,763,025 บาท รวมกับเงินที่มีการโอนเข้าบัญชีของนายมานพ ก่อนหน้านี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 172,763,025 บาท ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20 บริษัท กฤษดา มหานคร จำกัด

นายมานพ เคยชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการ คตส. ว่า จำเลยที่ 25 ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 20 จำนวน 11.5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 172,763,025 บาท แต่ตนมีเงินไม่พอ จึงขอยืมเงินจำเลยที่ 25 เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมว่า เมื่อครบกำหนดชำระเงินกู้ ผู้กู้สามารถเลือกชำระคืนเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย หรือเลือกใช้สิทธิขายคืนหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดเป็นการปลดภาระหนี้

แต่ตุลาการศาลฎีกาในคดีนี้เคยลงความเห็นว่า เงื่อนไขการกู้ยืมที่นายมานพ มี แต่ได้โดยไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงใดๆ ผิดปกติวิสัยของการลงทุนโดยทั่วไป ข้ออ้างจึงไม่สมเหตุผล
090861-1927-9-335x503-3 เพิ่มเพื่อน

บัดนี้เรื่องนี้กลับร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง ขนาด พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวของนายมานพ ทิวารี บิดาของน.ต.ศิธา ทิวารี ว่าอาจหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาในคดีอาญาว่า คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนดีเอสไอมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายมานพ และได้สรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษพิจารณาสั่งคดี

และที่ผ่านมากรณีของนายมานพ อัยการไม่ได้สั่งให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติม และขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้อัยการยังไม่มีความเห็นทางคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่วนผู้ต้องหากลุ่มอื่นๆ ที่รับเช็คจากผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงกรณีของนายพานทองแท้ กรณีรับเช็ค 10 ล้านบาทนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัยหงษ์เหิน กรณีรับเช็ค 26 ล้านบาท

คดีทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย ที่เกี่ยวพันกับคนหลายคน ในจำนวนนั้นมีนายมานพ เป็น 1 ใน ผู้ต้องหาที่สำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่มีคำสั่งทางคดี กำลังเป็นของร้อนในกระบวนการยุติธรรม ที่อาจลากใครต่อใครลงเหวได้

แม้ว่าจะมีความพยายามว่า ขณะนี้ได้รับการประสานว่ากรณีของนายมานพ ได้ถูกแยกการพิจารณาออกจากผู้ต้องหาอื่น เพื่อรอฟังความเห็นทางคดีของนายพานทองแท้ นางกาญจนาภา และนายวันชัย ที่สำนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปแล้ว

คดีของนายมานพ ที่กำลังลอยไปในอากาศกลับส่งกลิ่นควันคละคลุ้งตลบอบอวลอยู่ทั่วกระบวนการต้นธารยุติธรรมในเมืองไทย

ต้องเกาะติดทางออกที่อัยการจะต้องหาทางชี้แจงกับสังคม....

| ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3410 หน้า 6 ระหว่างวันนี้ 18-20 ต.ค.2561
595959859