'ทีเอ็มบี' โชว์กำไร 9 เดือน 26,360 ล้านบาท พุ่ง 76%!!

17 ต.ค. 2561 | 09:53 น.
อานิสงส์ขาย บลจ.ทหารไทย ดันกำไร 9 เดือน ก่อนหักสำรอง พุ่ง 26,360 ล้านบาท เติบโต 76% ฉวยจังหวะสำรองเพิ่ม เตรียมพร้อมรับ IFRS 9 ส่งผลให้สัดส่วนสำรองต่อหนี้เสียสูงขึ้นเป็น 157% และกำไรสุทธิ 9 เดือน อยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2561 พบว่า มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) อยู่ที่ 26,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลรับรู้กำไร 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด 65% เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกับ อีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม 35% ขณะที่ ผลการดำเนินงานหลักยังทรงตัว


Piti Tantakasem 2[6585]

"ทีเอ็มบีต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้า โดยไม่ยึดติดกับการธนาคารในรูปแบบเดิม ๆ และมั่นใจว่า การจับมือกับอีสท์สปริงจะส่งผลดีต่อลูกค้าทั้งของทีเอ็มบีและ บลจ.ทหารไทย เนื่องจากอีสท์สปริงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ในระดับโลกและในหลายมิติของการลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของ บลจ.ทหารไทย และตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการด้านกองทุนรวม หรือ "TMB Open Architecture" ของทีเอ็มบีได้"

ทั้งนี้ จาก PPOP ที่สูงขึ้น ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากระดับปกติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ IFRS 9 และเพื่อดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage Ratio) สูงขึ้นจาก 143% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว เป็น 157% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากงวด 9 เดือนปีก่อน ขณะที่ สินเชื่อด้อยคุณภาพมี 20,950 ล้านบาท คิดเป็น 2.69% ของสินเชื่อรวม


TMB MTD_LOGOBlue[6584]

สำหรับผลดำเนินงานหลักงวด 9 เดือน ปี 2561 ทีเอ็มบีขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นได้ 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.39 แสนล้านบาท ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากลูกค้ารายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์หลัก อย่าง เงินฝาก "ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์" (TMB No-Fixed) ที่เติบโต 13% หรือ 3.0 หมื่นล้านบาท และเงินฝาก ME Save ซึ่งเป็นเงินฝากรูปแบบดิจิทัล ที่เติบโตได้ 10% หรือ 4.1 พันล้านบาท

ขณะที่ สินเชื่อคุณภาพเพิ่มขึ้น 3.3% มาอยู่ที่ 6.46 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มขึ้น 13% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการขยายสินเชื่อบ้านเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนของลูกค้าธุรกิจ สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดีที่ 4% หรือ 9 พันล้านบาท สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นผลมาจากการดำเนินการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของธนาคาร ทำให้ภาพรวม 9 เดือน สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


e-book-1-503x62