ชงนายกฯ รื้อร่าง "กฎหมายไซเบอร์"

11 ต.ค. 2561 | 06:14 น.
รุมชำแหละร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์! สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศเตรียมยื่นหนังสือ (นายกฯ-ประธาน สนช.” แก้สาระหลัก ทั้งอำนาจหน้าที่ สนง.คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ดูแลนโยบาย-กำกับ-ให้บริการ เลขาฯ อำนาจล้น สั่งยึดคอมพ์ได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล

เวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้อง ต่อร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า นั้น มีการแสดงความคิดเห็นและห่วงใยมากมายจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นหลักที่เห็นร่วมกัน คือ ถ้อยคำและบทนิยามศัพท์ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและเลขาธิการที่มีมากเกินไป

น.พ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สมาคมได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามและศึกษาร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ซึ่งพบว่า มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายมาตรา ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง หากมีการประกาศบังคับใช้โดยที่ไม่มีการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบและรอบด้าน และต้องมุ่งรักษาผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับ

โดยสมาคมจะมีการจัดทำความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งประเด็นสำคัญที่ขอให้มีการพิจารณาปรับแก้สาระหลักในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ 1.การไม่มีธรรมภิบาลอย่างร้ายแรง และการขัดแห่งผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช. (ตามมาตรา 14, 17 และ 18) ที่ระบุว่า สำนักงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 14), สามารถถือหุ้น หรือ เข้าเป็นหุ้นส่วน หรือ เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของสำนักงาน (มาตรา 17), สามารถกู้ยืมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน (มาตรา 17) และดอกผลของเงิน หรือ รายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน รายได้ของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (มาตรา 17) ซึ่งในประเด็นดังกล่าว สมาคมเห็นว่าการเป็นหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ควรจะมีหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแข่งกับเอกชน และไม่ควรแสวงหารายได้และถือหุ้นกับเอกชน

2.อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติที่มีมากเกินไป จนเข้าข่ายผูกขาดรวบอำนาจการบริหารจัดการด้านไซเบอร์ของประเทศมารวมไว้ที่หน่วยงานเดียวกัน โดยมีอำนาจครอบจักรวาล ผูกขาดความรับผิดชอบในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ (ตามมาตรา 16, 51 และ 58) ทั้งนี้ ควรแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ จัดทำนโยบาย ให้บริการ และกำกับดูแล ออกจากันอย่างเด็ดขาด เพื่อความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

สุดท้าย คือ อำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ ที่มีอำนาจมากเกินไป สามารถสั่งการหน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานรัฐ-เอกชน รวมไปถึงประชาชน (มาตรา 24-31 และมาตรา 51-58) โดยในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามระดับร้ายแรง เลขาธิการมีอำนาจสั่งการหน่วยงานภาครัฐ ตามมาตรา 56 มีอำนาจสั่งการบุคคล แค่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง หรือ ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์ ตามมาตรา 57 และมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในสถานที่ประกอบการ เข้าถึงทรัพย์สินสารสนเทศ ตรวจสอบ และยึดเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ตามมาตรา 58 โดยผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเลขาธิการ ตามมาตรา 57 และ 58 มีโทศจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 150,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 62 และ 63 ซึ่งการใช้อำนาจตามมาตรา 57 และ 58 เข้าข่ายการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างร้ายแรง

ด้าน ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า กล่าวว่า เอ็ตด้าจะรวบรวมประเด็นความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า โดยจะเปิดให้ประชาชนได้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ถึงวันที่ 12 ต.ค. นี้ หาก ครม. เห็นชอบ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากผ่านการเห็นชอบจาก สนช. ก็ตราเป็นกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ทันที


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,409 วันที่ 14 - 17 ต.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"บิ๊กตู่" แจงร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ จำเป็น ใครไม่ทำผิดไม่ต้องกลัว
'พ.ร.บ.ไซเบอร์' จ่อเข้า ครม.! 'ดีอี' ร่วมญี่ปุ่นตั้งศูนย์อาเซียน สร้างนักรบดิจิตอล


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก