'ไทยพาณิชย์' ปรับจีดีพี ปี 61 โต 4.5%

17 ต.ค. 2561 | 09:31 น.
'อีไอซี' ปรับจีดีพีไทยโต 4.5% และชะลอเหลือ 4% ในปี 62 เหตุสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังระอุ กระทบส่งออกไทย จากปีนี้โต 8.5% เหลือโต 4.7% จับตาภาคการท่องเที่ยวจีน ปัญหาสนามบินไม่พอรองรับส่วนลงทุน-การบริโภคเอกชนส่งสัญญาณบวกหลังซบเซา ภาครัฐลงทุนโต 9%

 

[caption id="attachment_334037" align="aligncenter" width="494"] ยรรยง ไทยเจริญ ยรรยง ไทยเจริญ[/caption]

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC เปิดเผยว่า อีไอซีปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้จาก 4.3% เป็น 4.5% และคาดการณ์เติบโตจีดีพีปี 2562 ที่ 4% แม้ว่าจะชะลอลงจากปีนี้ แต่เป็นการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.8% เท่านั้น

ส่วนปัจจัยที่จะผลักดันการเติบโตของจีดีพีปีนี้ ยังมีแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกให้ขยายตัวได้ดีและภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ อีไอซีประเมินภาคการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตที่ 8.5% และปี 2562 จะขยายตัวลดลงอยู่ที่ 4.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด โดยปีนี้มีอัตราเติบโตที่ 8% หรือ มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 38.2 ล้านคน แม้ว่าเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์ แต่มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาช่วยชดเชย จากช่วง 8 เดือนแรก นักท่องเที่ยวจีนเติบโต 16% และปี 2562 คาดว่าจะเติบโตที่ 6% จำนวน 40.5 ล้านคน ซึ่งปัจจัยเติบโตลดลง มาจากนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องติดตามและความสามารถรองรับของสนามบินที่ค่อนข้างตึง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ปีนี้ขยายตัว 3% และปี 2562 ขยายตัว 4% แม้จะขยายตัวไม่สูงมาก แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีจากอดีตที่ค่อนข้างซบเซา ส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออกที่เติบโตดี ส่งผลให้เกิดการลงทุนสะท้อนผ่านกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นและนำเข้าเครื่องจักรเป็นบวก รวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐ ที่คาดว่าปี 2562 จะขยายตัวอยู่ที่ 9% ตามโครงการลงทุนที่เกิดขึ้นและเม็ดเงินที่ต่อเนื่อง จากปีนี้เติบโต 6.1% ส่วนการบริโภคเอกชนในช่วง 6-7 เดือน จะเห็นว่ากำลังซื้อปรับตัวดีขึ้นและค่าแรงทยอยดีขึ้นเมื่อเทียบใน 2 ปีก่อน โดยค่าแรงในช่วง 6 เดือนแรก เติบโต 2.4% เมื่อเทียบกับอัตราว่างงาน 1.1% ถือว่าตํ่า เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขเรื่องทักษะ โดยปีนี้บริโภคเอกชนเติบโต 4% และปี 2562 เติบโต 3.2%


090861-1927-9-335x503-8-335x503

"แม้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ แต่ปี 2562 การขยายตัวจะอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีปัญหา และแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากสหรัฐฯ และจีน ที่ไม่สามารถหาข้อตกลงได้ แม้ผลกระทบต่อไทยยังจำกัดในปีนี้ แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น จะกระทบมากขึ้นในปีหน้า โดยประเมินตัวเลขผลกระทบต่อการส่งออกมีมูลค่าราว 6.1% ของมูลค่าส่งออกของไทยทั้งหมด ซึ่งตัวเลขผลกระทบขึ้นกับความรุนแรงของสถานการณ์"

นายยรรยง กล่าวถึงนโยบายการเงินว่า คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งแรกปี 2562 หรืออย่างเร็วในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจาก กนง. ต้องการมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่อยู่ 1.1-1.2% อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากอดีตการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะชัน 2% เฉลี่ยขึ้นครั้งละ 0.50% ต่อไตรมาส แต่ปัจจุบัน จะเห็นการขึ้นเพียง 0.25% เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นภาระต่อผู้กู้ และอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างตํ่ากว่าในอดีต ที่เฉลี่ย 3.1% มาอยู่ 2.1% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) อยู่ที่ 0.13%

หน้า 23-24  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว