12 องค์กรวิชาชีพลงมติล้มเทอร์มินัล2ทอท.หลังเปิดเวทีสาธารณะ

16 ต.ค. 2561 | 12:41 น.
12องค์กรวิชาชีพรวมถึงส.สถาปนิกสยามฯ สรุปมติคัดค้านการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือที่ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการ ยันให้ทำตามมาสเตอร์แพลนเดิมปี 46 หลังเปิดเวทีสาธารณะ "กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ" ผู้ค้านและทอท. ถกกว่า5ชั่วโมง

aot

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า ในการเปิดเวทีสาธารณะ "กะเทาะเปลือกสนามบินสุวรรณภูมิ" เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญผู้คัดค้านเรื่องการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ยึดแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศเหนือของทอท.และเชิญผู้บริหารทอท.มาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งประเด็นของเวทีสาธารณะมีการพูดถึงมาสเตอร์แพลนสนามบินสุวรรณภูมิของแต่ละฝ่ายที่มีฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน ทั้งศักยภาพของรันเวย์ การเติบโตของผู้โดยสาร และแบบในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่จะเกิดขึ้น
aot1 ทั้งนี้หลังจากการเปิดเวทีสาธารณะ ใช้เวลาฟังกว่า5ชั่วโมง ทางสมาคมจะมีการหารือกับกรรมการที่มาจาก12 องค์กรวิชาชีพ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่เป็นกลาง รวม 20 คน จากทั้งหมดที่เชิญไป 15 องค์กรเพื่อนำข้อสรุปมาเสนอกับรัฐบาลต่อไป ซึ่งจากการหารือกันราว 10 นาที ข้อสรุปจาก 10 องค์กร อาทิ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาไทย คณะสถาปัตย์ฯ สถาบันอาศรมศิลป์ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ สมาคมนักผังเมือง และ องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น เป็นต้น
aot3 โดยเห็นพ้องร่วมกันทั้ง10 องค์กรว่า ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่2 ทางด้านทิศเหนือที่ทอท. กำลังดำเนินการอยู่ แต่เห็นควรให้ไปขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก รวมถึงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่2ด้านทิศใต้ของสนามบิน ตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิที่วางไว้ในปี 2546 เนื่องจากแผนแม่บทเดิมที่วางไว้ตอบโจทย์ทุกอย่างอยู่แล้ว และการรองรับผู้โดยสาร120ล้านคน ถือว่าเพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยมี3สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ที่จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินเป็นตัวกระจายผู้โดยสารระหว่าง3สนามบินอยู่แล้ว

อีกทั้งจริงๆแล้วปัจจุบันสนามบิน ในโลกนี้ที่มีผู้โดยสารเกิน 100 ล้านคน เท่าที่ทราบมีแค่สนามบินปักกิ่ง กับแอตแลนต้าเท่านั้น ดังนั้นมาสเตอร์แพลนเดิมที่รองรับได้120 ล้านคนจึงถือว่าเพียงพอ

aot4

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ที่ประชุมเห็นชอบกับความเห็นของนายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ที่พิจารณาแล้วว่า ข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO ที่ทอท.นำมาอ้างอิงจริงๆแล้วดูเป็นไปไม่ได้ที่ ICAO จะออกมารับรอง และแผนแม่บทปัจจุบันที่ทอท.ยึดอยู่ ก็เป็นการออกแบบของทอท.เอง แต่นำผลการศึกษาบางส่วนของ ICAO มาอ้างอิงเท่านั้น อย่างที่ ICAO แนะนำก็เป็นเพียงการA-Anex (ส่วนต่อขยายอาคารเทียบเครื่องบิน บริเวณคอนคอร์ดAที่รองรับผู้โดยสารอินบาวด์และเอ้าท์บาวด์) ไม่ได้บอกให้สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามทางสมาคมจะนำผลสรุปของการหารือ เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในสัปดาห์นี้

aot5

aot6

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากได้รับฟังข้อมูลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มี 2 ประเด็นคำถามที่ต้องการให้ชี้แจง คือ ประเด็นที่1.ขอดูผลการศึกษาและหลักฐานของการจัดทำแผนสนามบินสุวรรณภูมิที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 135-150 ล้านคนตามที่ทอท.ยืนยัน

aotk

ประเด็นที่ 2.ต้องการขอดูหลักฐานที่ ทอท.อ้างอิงว่ามาสเตอร์แพลนที่ ทอท.กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ ผ่านการเห็นชอบมาจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) รวมทั้งปรับปรุงมาจากคำแนะนำของไอเคโอ ตามที่ ทอท.กล่าวอ้าง รายละเอียดเป็นอย่างไร เนื่องจากตนได้รับทราบข้อมูลคำแนะนำของไอเคโอ กลับระบุไว้ว่าให้ ทอท.เร่งดำเนินการพัฒนาอาคารเทียบเครื่องบินรองในลักษณะ Concourse Annex ซึ่งจากการตีความจะต้องเป็นการพัฒนาอาคารขนาดเล็ก ไม่ใช่การพัฒนาอาคารรองรับผู้โดยสาร

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ICAOกำหนดให้ ทอท.ดำเนินการเพื่อใช้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ แต่จากแผนพัฒนาของ ทอท. พบว่าปัจจุบันจะปรับไปพัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นอาจจะขัดต่อคำแนะนำของICAO อีกทั้ง ทอท.มีความตั้งใจพัฒนาอาคารดังกล่าวเพื่อให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ใช้งาน แต่ปัจจุบันการบินไทยก็อาจไม่ได้อยากมาใช้บริการเพราะหากเข้ามาใช้อาคาร ก็เป็นรายจ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น

aotk1

นอกจากนี้ การพัฒนาเทอร์มินัล 2 ใหม่ หากเทียบกับมาสเตอร์แพลนเดิม ที่จะต้องพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ฝั่งตะวันตกก็พบว่าแผนเดิมมีการออกแบบไว้แล้ว สามารถสร้างได้ทันที ขณะที่การขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2ของทอท. ยังอยู่ในขั้นตอนออกแบบ ยังไม่ผ่านอีไอเอ และครม. โดยหากไม่ผ่าน ครม.ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้านนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. กล่าวว่า แผนแม่บทพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นแผนที่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจุจบัน ซึ่งทอท.คำนึงถึงความต้องการและการใช้งานของผู้โดยสารเป็นหลัก ยืนยันว่าดำเนินงานตามแผนแม่บทศึกษาไว้ และทำตามคำแนะนำของICAOที่ระบุให้ ทอท.พัฒนา Concourse Annex พร้อมด้วยทางเชื่อมเข้าอาคาร และให้มีถนนเลียบอาคารได้ และแผนแม่บทที่ทอท.ยึดก็อยู่บนการปรับปรุงมาสเตอร์เดิม ที่ขยายการรองรับของสนามบินให้มากกว่าเพื่อใช้ปนะโยชน์พื้นที่เต็มศักยภาพ คือ3อาคารผู้โดยสาร4รันเวย์ รองรับได้สูงสุด150ล้านคนซึ่งแตกต่างจากมาสเตอร์แพลนเดิมของผู้คัดค้านที่อิงมาสเตอร์แพลนในอดีตที่อิง2อาคารผู้โดยสาร4รันเวย์ รองรับได้สูงสุด120ล้านคน

aotk2

ทั้งนี้ ภายหลังการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายในเวทีครั้งนี้ ทอท.จะกลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และจะกลับมาตอบข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในเวทีนี้อีกครั้ง ซึ่งอาจต้องเชิญมาหารือในกลุ่มย่อย เพราะมีข้อมูลทางเทคนิคมาก เพื่อเคลียร์ความชัดเจนให้อยู่บนดาต้าเบสท์เดียวกัน

aot7

aot8

595959859