'มาโย่' บุกโมเดิร์นเทรด! เจาะ "โลตัส-เซเว่นฯ" ต่อยอดสู่เป้า 100 ล้าน

18 ต.ค. 2561 | 06:09 น.
"ซี แอนด์ ที ฟู้ดส์" เดินหน้ากลยุทธ์บุกเข้าโมเดิร์นเทรด ขยายฐานลูกค้ามุ่งเป้ารายได้ 30 ล้านบาท แย้มปีหน้าขยายเข้าโลตัสและเซเว่นฯ เพิ่มรายได้ทะยานแตะ 100 ล้านบาท ชูจุดเด่นการแปรรูปที่แตกต่างและรสชาติเอกลักษณ์ทางใต้ดึงดูดลูกค้า

นายชัยกานต์ มาแทน กรรมการบริหาร บริษัท ซี แอนด์ ที ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อหมูแปรรูปในรูปแบบของหมูหย็องและหมูแผ่นแบรนด์ 'มาโย่' เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า กลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์จะมุ่งเน้นการจำหน่ายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก โดยล่าสุด สามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายได้แล้วที่บิ๊กซี ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ และท็อปส์มาร์เก็ต จากเดิมที่เป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของการผลิตและจำหน่ายแบบสดใหม่ในร้านขายของฝากที่ จ.พัทลุง

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าแบรนด์จะดำเนินการขยายช่องทางในการทำตลาดไปสู่โลตัสและเซเว่นอีเลฟเว่นเพิ่มเติม เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ให้กว้างขวางมากขึ้น โดยขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่าย นอกจากนี้ แบรนด์ยังดำเนินการในส่วนของการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อให้ลูกค้าได้นำไปสร้างแบรนด์ของตนเองด้วย แต่จะอยู่ภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว โดยมองว่าเป็นแนวทางในการปิดช่องทางของคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาด และสร้างความคุ้นชินในเรื่องของรสชาติให้กับผลิตภัณฑ์


MAYO6 MAYO5

"นอกจากช่องทางของโมเดิร์นเทรดแล้ว แบรนด์ยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าที่เป็นของตนเอง ที่ร้านมาโย่หมูทองท่าแคที่ จ.พัทลุง ด้วย ขณะที่ ช่องทางในการทำ OEM ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญของแบรนด์ เพราะเป็นการป้องกันคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาดเดียวกันได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันที่โมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดียวกันจำหน่ายอยู่ 3 แบรนด์ ปรากฏว่าเป็นของบริษัทเอง 1 แบรนด์ และเป็นของที่บริษัททำ OEM ให้อีก 2 แบรนด์"

ขณะที่ การขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศนั้น แบรนด์จะดำเนินการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดมาดำเนินการด้วยตนเอง หลังจากที่ผ่านมาได้ดำเนินการในรูปแบบของการฝากตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ไปยังกลุ่มประเทศใน CLMV อย่าง เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยจะมุ่งเน้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้เป็นหลัก หลังจากที่ผ่านมาเคยนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายที่ประเทศไต้หวันและจีน แต่ติดปัญหาเรื่องของการกีดกันทางการค้าประเภทเนื้อสัตว์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งประเทศในกลุ่ม CLMV จะสะดวกสบายมากกว่า

"ในส่วนของช่องทางผ่านออนไลน์นั้น แบรนด์มีการดำเนินการผ่านแอพพลิเคชันลาซาด้า (Lazada) และเพจเฟซบุ๊กของบริษัท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อปริมาณมากและนำไปแบ่งขาย ขณะที่ ช่องทางผ่านเว็บไซต์ (www.mayo.co.th) จะถูกใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และให้ข้อมูลของบริษัท เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ"


MAYO4 MAYO3

นายชัยกานต์ กล่าวต่อไปอีว่า จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทในปีนี้ และจะเติบโตขึ้นเป็น 100 ล้านบาท จากการขยายตลาดเข้าสู่โมเดิร์นเทรดที่เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทเริ่มเข้าทำตลาดผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด หลังจากที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ทำให้ติดปัญหาเรื่องของบรรจุภัณฑ์ สรรพคุณหน้าซองสินค้า และตัวเลขเครื่องหมายการค้า เป็นต้น

สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์มาโย่ อยู่ที่การแปรรูปเนื้อหมูที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ผสมผสานกับรสชาติที่ประยุกต์เข้ากับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแปลกใหม่และน่าสนใจสำหรับผู้บริโภค ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์แบรนด์มาโย่ที่บริษัทเน้นการทำตลาด ประกอบด้วย หมูแผ่นรสดั้งเดิม รสลาบ รสสมุนไพร รสคั่วกลิ้ง เช่นเดียวกับรสชาติของหมูหยอง ซึ่งมีการปรับนำรสชาติดังกล่าวเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางในการทำตลาดให้มากขึ้น จากเดิมที่หมูหย็องจะถูกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของแบรนด์ มองว่า อยู่ที่การไม่เคยหยุด เพราะตนมองว่า การหยุดก็คือ การถอย อีกทั้งการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันจะต้องไม่ใช่แค่การมุ่งหวังผลกำไร

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3410 วันที่ 18-20 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62