ปิดดีลขาใหญ่-อดีตผู้บริหาร ทอท.ควงเอสเอแอลฯ ผุดบ.ร่วมทุนกราวด์ เซอร์วิส

21 ต.ค. 2561 | 10:05 น.
ทอท.ปิดดีลเอสเอแอล กรุ๊ป ที่มีขาใหญ่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจลานจอดอากาศยาน-อดีตผู้บริหารทอท.ร่วมหุ้น ตั้ง “บริษัทบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด” ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท รุกธุรกิจกราวด์ เซอร์วิส นำร่องที่สนามบินดอนเมืองเป็นแห่งแรก

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขณะนี้ทอท.ได้ตกลงที่จะร่วมลงทุนกับบริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ในการจัดตั้ง “บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย  จำกัด” ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ทอท.ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และเอสเอแอล กรุ๊ป ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ซึ่งประกอบด้วยหุ้นสามัญ 47% และหุ้นบุริมสิทธิ 4% โดยหุ้นบุริมสิทธิมีสิทธิเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ ยกเว้นเรื่องการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีสิทธิในสัดส่วน 10 หุ้นต่อ 1 เสียง เพื่อให้ทอท.มีสิทธิมีเสียงในการบริหารมากกว่าเอกชน

ทั้งนี้จะมีการเรียกชำระค่าหุ้นครั้งแรกจากผู้ถือหุ้นในอัตรา 25% ของทุนจดทะเบียน วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว เพื่อให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น ในสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของทอท. ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบลงทุนในหลักพันล้านบาท  แต่ทั้งนี้จะเริ่มนำร่องการให้บริการที่สนามบินดอนเมืองเป็นแห่งแรก

gg

โดยจากนี้จะมีการหารือในบอร์ดทอท.ถึงระยะเวลาในการให้สัมปทานแก่บริษัทบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด ว่าจะเป็นกี่ปี วงเงินการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจะเป็นเท่าไหร่ และจากนั้นก็มีแผนจะขยายการให้บริการไปยังสนามบินของทอท.ในต่างจังหวัดเป็นอันดับต่อไป

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าบริษัท เอสเอแอล กรุ๊ปฯ ซึ่งทอท.เข้ามาร่วมลงทุนในการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว ปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการหรือเช่าอุปกรณ์ ภาคพื้นดิน แก่บริษัทและสายการบินต่างๆ ในสนามบินดอนเมือง โดยบริษัทนี้เพิ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีนายลือชา การณ์เมือง อดีตเลขาฯส่วนตัวนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ และผู้ครํ่าหวอดในแวดวงนี้ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่  มีบริษัท สยามเทค แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งยังพบว่าเอสเอแอล กรุ๊ป ยังเกิดจากการรวมตัวกันของหลายบริษัทที่ผูกขาดการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนถ่ายสัมภาระ ลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร ขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่แล้วในสนามบิน อาทิ บริษัท แพนไทย คาร์โก้ เอ็กซ์เพรส จำกัด, บริษัทโกลเบกซ์ ไทย จำกัด, บริษัท แอร์เซิร์ฟ จำกัด รวมทั้งยังมีอดีตผู้บริหารทอท.เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในนามบุคคลธรรมดาและร่วมเป็นกรรมการบริษัทด้วย ไม่ว่าจะเป็นนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. ถือหุ้น 3,330 หุ้น และนายประดิษฐ์ มงคลอภิบาล อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท.

1500621806661-1-503x335 copy อย่างไรก็ตาม ในอดีตทอท.เคยร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยแอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซสฯ หรือ TAGS แต่หลังจาก
รัฐบาลมีนโยบายย้ายการให้บริการจากสนามบินดอนเมืองทั้งหมด เพื่อไปให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งในยุครัฐบาลทักษิณ ด้วยเหตุ ผลทางการเมือง จึงมีนโยบายให้ทอท.ได้เปิดคัดเลือกผู้ประกอบการกราวด์ เซอร์วิส ในลักษณะให้สัมปทาน และกำหนดให้ TAGS ต้องเข้าร่วมประมูลด้วย ทำให้เมื่อ TAGS แพ้การประกวดราคาให้กับการบินไทย และบางกอกไฟลท์ เซอร์วิสเซส ของบางกอกแอร์เวย์ส ก็ทำให้ธุรกิจของ TAGS ที่ไปได้ดีต้องล้มหายไป

ส่วนการที่ทอท.ตั้งบริษัทร่วมทุนทำกราวด์เซอร์วิสขึ้นมาอีกครั้ง เพราะต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมระบบการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน เพราะหลังจากทอท.ย้าย การให้บริการโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ มาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง โดยเปิดทางให้สายการบินทำกราวด์เซอร์วิสของตัวเอง เพื่อจูงใจให้สายการบินบางส่วนย้ายกลับมา แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าสายการบินต่างๆ จะใช้วิธีจ้างเอาต์ซอร์ซ ทำให้บางครั้งมีการละเลยขั้นตอนในกระบวนการที่สำคัญบางเรื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เที่ยวบินมีปัญหาดีเลย์

ขณะเดียวกันทอท.ยังมองระยะยาวที่จะทำให้ลดความซํ้าซ้อนของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด สร้างโอกาสในการลงทุนให้กับทอท.ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในระยะยาว

โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3410 ระหว่างวันที่ 18 - 20 ตุลาคม 2561

595959859