รอลุ้น 'ดีแทค' ร่วมประมูล! 'ฐากร' มั่นใจยื่นเอกสาร

09 ต.ค. 2561 | 09:27 น.
กสทช. ยังมั่นใจ 'ดีแทค' เข้าประมูล ชี้! หาก 16 ต.ค. ไม่มา พร้อมอุทธรณ์ทันที ด้าน 'ดีแทค' เผย อยู่ระหว่างพิจารณาเหตุผลทางธุรกิจจากบอร์ดเทเลนอร์ กรุ๊ป ยัน! เสร็จทันตามกรอบเวลา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากที่ กสทช. ได้เปิดให้มีการยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 9 ต.ค. 2561 ปรากฏว่า ยังไม่มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใดเข้ามายื่นเอกสารร่วมประมูล แต่ทางสำนักงาน กสทช. ได้รับการประสานงานจาก นางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยยืนยันว่า ดีแทคจะเข้าร่วมประมูล แต่จะเข้ามายื่นเอกสารในวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นเอกสารขอเข้าร่วมประมูล ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือ จะมีการขยายระยะเวลารับคำขอออกไปอีก 7 วัน เนื่องจากขณะนี้ ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาเหตุผลทางธุรกิจและการขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร และต้องรอแจ้งกับคณะกรรมการของเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่ประเทศนอร์เวย์ก่อน โดยยืนยันว่า จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 ต.ค. 2561 ในช่วงเช้า

ทั้งนี้ ทางสำนักงาน กสทช. จะต้องนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช. ในวันที่ 10 ต.ค. 2561 เพื่อขอความเห็นชอบ แต่หากดีแทคไม่มายื่นเอกสารเพื่อขอเข้าร่วมประมูล กสทช. จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ที่มีคำสั่งให้มีการเยียวยาลูกค้า โดยสามารถใช้งานคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ได้จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ล่าสุด สำนักงานได้จัดทำคำขออุทธรณ์คำสั่งศาลไว้เสร็จแล้ว เหลือเพียงรอดูท่าทีของดีแทคอีกครั้งในวันที่ 16 ต.ค. 2561 ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายที่ กสทช. มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง

ขณะที่ ล่าสุด กสทช. ได้รับรายงานจำนวนลูกค้าที่คงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz จากดีแทค ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 256,060 ราย แบ่งเป็น ลูกค้ารายเดือน 151,173 ราย และลูกค้าเติมเงิน 104,887 ราย รวมถึงมีเงินคงค้างอยู่ในระบบ 10,387,589 บาท โดยดีแทคจะต้องรายงานตัวเลขจำนวนลูกค้าคงเหลือให้กับทางสำนักงาน กสทช. ทุกสิ้นเดือน

"ทางดีแทคยืนยันและแสดงความจริงใจด้วยการติดต่อประสานงานมายัง กสทช. และมีการตอบคำถามที่เป็นไปในทิศทางที่ดี" นายฐากร กล่าว

ขณะที่ กรอบระยะเวลาในการประมูลนั้น หลังจากที่มีการเปิดรับเอกสารคำขอเข้าร่วมประมูลคลื่น ในวันที่ 16 ต.ค. 2561 แล้ว หลังจากนั้นจะมีการจัดการประมูลในวันที่ 28 ต.ค. 2561 พร้อมรับรองผลการประมูลแล้วเสร็จในวันที่ 31 ต.ค. 2561

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่าจะไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งนี้ เพราะจำนวนคลื่นเพียงพอต่อการให้บริการ

ขณะที่ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง : หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890-895/935-940 เมกะเฮิรตซ์ ในหมวดของการประมูลข้อ 10 ในข้อที่ 3 ในกรณีที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 1 ราย หรือ ไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูล คณะกรรมการจะเปิดรับคำขอรับใบอนุญาตเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 7 วัน นับจากวันที่สำนักงานประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูล ภายหลังครบกำหนดดังกล่าวแล้ว หากยังมีผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 1 ราย คณะกรรมการจะดำเนินการประมูลตามกระบวนการประมูลในประกาศนี้ต่อไป แต่หากยังคงไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูล คณะกรรมการสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการประมูลและอาจพิจารณากำหนดประมูลครั้งต่อไปตามความเหมาะสม

สำหรับรูปแบบวิธีการประมูลดำเนินการประมูลแบบหลายรอบ และราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ (Ascending Bid Auction) ส่วนราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ มีราคา 37,988 ล้านบาท เคาะราคา 1 ครั้ง เพิ่ม 75 ล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11 - 13 ต.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ดีแทค' เปิดหน้าชก กสทช. !! วัดใจ 'เทเลนอร์' ประมูลคลื่น 900
บอร์ด กสทช. แต่งตั้ง "สุกิจ" แทน "เศรษฐพงค์" จ่ออุทธรณ์เยียวยาดีแทค


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน