บ้านทะลักหมื่นหน่วย! แห่ขอจัดสรรพรึบ ดัน 5 ทำเลทอง กทม. โซนตะวันออกคึก

17 ต.ค. 2561 | 09:32 น.
โซนกรุงเทพฯตะวันออก ซัพพลายเกิดใหม่คึกคัก! บ้านเดี่ยวครึ่งปีทะลัก 7 พันหน่วย 'ซีบีอาร์อี' เผย ตัวเลขออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินขอทำบ้านเดี่ยวเยอะสุด 2 กลุ่มบริษัทเก่าแก่ป้อนบ้านหรู 20 ล้านอัพ เพิ่ม 100 หน่วย รับดีมานด์โต รถไฟฟ้า ถนนตัดใหม่ หนุนทำเล

จากนโยบายรัฐบาลบูมโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานครเป็นที่แรก ทั้งรถไฟฟ้า โครงข่ายถนนตัดใหม่ เปิดทำเลทองที่อยู่อาศัย สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 อีกทั้งโครงการขนาดใหญ่รัฐ "ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" (อีอีซี) ยิ่งส่งผลให้ความเจริญขยายตัวมายังทำเลแถบนี้อย่างรวดเร็ว

นายสาทิต สืบสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเมียร์ แอสเซ็ทส์ จำกัด กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจและทำเลน่าสนใจในการพัฒนาโครงการกลุ่มบ้านหรูของกลุ่มบริษัท พรีเมียร์ กรุ๊ปฯ หลังจากเปิดโครงการ ภายใต้แบรนด์บ้านนวัต รวม 3 โครงการ มูลค่า 1.28 พันล้านบาท คือ บ้านนวัต พระราม 9, บ้านนวัต เอกมัย-รามอินทรา และล่าสุด บ้านนวัต รามคำแหง 118 อีกจำนวน 23 หน่วย ราคาเริ่มต้น 29 ล้านบาท ว่า เบื้องต้น บริษัทมีแผนพัฒนากลุ่มบ้านหรูเฉลี่ยปีละ 2 โครงการ ขณะนี้กำลังมองหาที่ดินที่เหมาะสม โดยเฉพาะในโซนกรุงเทพฯตะวันออก เช่น เอกมัย-อ่อนนุช-ศรีนครินทร์-รามคำแหง-กรุงเทพกรีฑา ที่บริษัทมีความคุ้นเคยในทำเลอย่างดี จากการเป็นผู้บุกเบิกวงการหมู่บ้านจัดสรรยุคแรก ๆ โครงการหมู่บ้านเสรี รวมถึงโครงการ 99 เรสซิเดนซ์ พระราม 9 โดยมองว่า ปัจจุบันทำเลดังกล่าวมีความโดดเด่นขึ้นมาก จากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ทั้งถนน ทางด่วน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีส้ม ทำให้มีความสะดวกในการเดินทางรวดเร็วยิ่งขึ้น และเกิดความต้องการที่อยู่อาศัยในสัดส่วนสูง จนปัจจุบัน โครงการภายใต้แบรนด์ใหญ่ครบเกือบทุกแบรนด์ในย่านกรุงเทพกรีฑา ขณะที่ ช่วงรามคำแหงตอนปลายกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ เกิดโครงการระดับลักชัวรีเป็นจำนวนมาก

"จากศักยภาพทำเลที่สูงขึ้น มีการขยายสนามบิน ก่อสร้างรถไฟฟ้า และโครงการอีอีซี ฉะนั้นความเจริญของเมืองจึงย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกและจะขยายไปเรื่อย ๆ โครงการที่เกิดขึ้นมีแทบทุกระดับราคา แต่ดีมานด์ที่สูงสุด คือ กลุ่มระดับกลาง-บน 15 ล้านบาทขึ้นไป อนาคตรถไฟฟ้าสายสีส้มมา เชื่อจะมีคอนโดฯ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแน่นอน"


MP29-3410-A

ด้าน นายศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอทเซท ไฟว์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ของตระกูลปัญจทรัพย์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ทำเลที่มีความโดดเด่นที่สุดในโซนกรุงเทพฯตะวันออก คือ พระราม 9-ศรีนครินทร์ ตลอด 2 ฝั่งของถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จจากการเปิดพรีเซล โครงการบ้านเดี่ยวแบบโมเดิร์นลักชัวรี "วนา เรสซิเดนซ์" จำนวน 69 หน่วย ราคาเริ่มต้น 20 ล้านบาท ซึ่งเพียง 1 เดือน สามารถสร้างยอดขายได้แล้วกว่า 500 ล้านบาท เฉลี่ย 5 หน่วย/เดือน สะท้อนถึงกำลังซื้อระดับบนที่ดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเจ้าของกิจการ พบทุกโครงการที่เปิดขายราคามากกว่า 20 ล้านบาท มีอัตราดูดซับที่ดีมาก ซึ่งมาจากศักยภาพของถนนตัดใหม่ที่กว้าง 6-8 เลน เดินทางเข้าเมืองได้หลากหลายและยังรายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช โรงเรียนนานาชาติ สนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า และคอมมิวนิตีมอลล์ ทั้งนี้ บริษัทยังมีแลนด์แบงก์ติดถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ เตรียมไว้สำหรับโครงการในอนาคตอีกด้วย

"โลเกชันเส้นตัดใหม่ มาจากแยกศรีนครินทร์ทะลุออกร่มเกล้าได้ ตรงนี้เหมือนเป็นโซนเปิดใหม่เทียบเท่าด้านตะวันออกอย่างราชพฤกษ์ โซนบ้านหรูที่พื้นที่เต็มหมดแล้ว โดยตลอด 2 ฝั่งกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ แม้มีหมู่บ้านเริ่มทยอยเกิดขึ้นมาก แต่ทุกโครงการขายได้หมด ทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ดูดซับดี"

ขณะที่ นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและตัวแทนขายโครงการ เปิดเผยว่า ใน 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) ภาพรวมและการเติบโตบนทำเลกรุงเทพฯ โซนฝั่งตะวันออกนั้น มีการเปิดขายโครงการบ้านเดี่ยวเฉลี่ยปีละประมาณกว่า 1 หมื่นหน่วย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี  ขณะที่ ครึ่งแรกของ ปี 2561 เปิดขายโครงการแล้ว
กว่า 7 พันหน่วย สอดคล้องกับจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินสำหรับบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาส 2 พบว่า ทั้งหมดมีจำนวนถึง 433 ราย โดยการออกใบอนุญาตดังกล่าว ในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก มีมากถึง 271 ราย ซึ่งคิดเป็น 63% ของทั้งหมด

"ชัดเจนว่า ซัพพลายของแนวราบกลับมามีบทบาทในตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะมากขึ้นในปีถัด ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทำเลกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ที่ได้รับความนิยมสูงจากแผนขยายการคมนาคมในอนาคต ทำให้ผู้พัฒนาหันมาเจาะ เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้อยู่อาศัยในแถบนี้"

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2564 ส่วนสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) คาดเปิดเดินรถได้ในปี 2566 ขณะที่ ถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ (ศรีนครินทร์-
ร่มเกล้า) ระยะทาง 12 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วง 2 อุโมงค์ทางลอด และช่วงที่ 5 ทางยกระดับข้ามมอเตอร์เวย์ ขนาด 6 ช่องจราจร มีกำหนดแล้วเสร็จทั้ง 2 ส่วน เดือน ธ.ค. นี้ ส่วนภาพรวมจะก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงเดือน มี.ค. 2562


หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,410 วันที่ 18 -20 ตุลาคม 2561

595959859