"หมอเลี๊ยบ" ปลุก 41 ล้านคน หย่อนบัตร สานเจตนาสร้าง "14 ตุลาฯ" ครั้งที่ 2

14 ต.ค. 2561 | 06:49 น.
วันนี้ (14 ต.ค. 61) ในวาระ 45 ปี เหตุการณ์ "14 ตุลา 16" ที่ประชาชนไทยลุกขึ้นทวงคืนสิทธิเสรีภาพจากรัฐบาลทหาร คนเดือนตุลาฯ จากเหตุการณ์นั้น มีบทบาทแตกต่างกันไปในเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ลุถึงวันนี้ ที่กำลังก้าวสู่การเลือกตั้งเพื่อกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง หลายคนออกมาแสดงทัศนะต่อความ(จะ)เป็นไปของบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เช่นเดียวกับ "หมอเลี๊ยบ" นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ใช้เจตนารมณ์เดือนตุลาฯ และการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ที่จะถึงนี้ สร้างประวัติศาสตร์การเมืองครั้งใหม่ ว่า

6F1A8BD7-036E-4C73-A131-547929DA1E0A

24 กุมภาพันธ์ 2562 : "14 ตุลา" แห่งทศวรรษ 2560
......................................................................

บ่ายวันนี้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว
ประชาชนนับแสนคนยังคงปักหลักบนท้องถนนราชดำเนิน
ท่ามกลางห่ากระสุนปืน รอยเลือดและคราบน้ำตา

บางคนออกจากบ้านของตนตั้งแต่เช้าวันที่ 13 ตุลาคม 2516 แล้วไม่ได้กลับบ้านอีกเลย
เพราะเขาเหล่านั้นก้าวเท้าเข้าไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย

ผ่านมา 45 ปี
"คนเดือนตุลา" บางคนเปลี่ยนไป
มุมมองต่อเหตุการณ์ในวันนั้นก็มีหลายแง่มุม แตกต่างกันไป
แต่ความใฝ่ฝันของคนในห้วงเวลานั้นไม่เคยเปลี่ยน

ความใฝ่ฝันของผู้คนที่หยัดยืนอย่างไม่กลัวตายบนท้องถนน วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งผมขอเรียกว่า #เจตนารมณ์เดือนตุลา คือ

- ต้องการประชาธิปไตย ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และประเทศชาติ
- ต้องการเสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น
- ต้องการโอกาสในชีวิตและสิทธิที่เท่าเทียมกัน
- ด้วยการเรียกร้องอย่างสันติวิธี มีแต่สองมือเปล่า และใจที่แน่วแน่

วันนั้น เราได้ประชาธิปไตย เสรีภาพ และโอกาสที่เพรียกหา
แม้สามสิ่งที่ว่านั้น อายุแสนสั้นเพียงแค่ 3 ปี
แต่ 3 ปีก็มากพอที่ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปตลอดกาล

ใครหลายคนบอกว่า ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย...
และผ่านมา 45 ปี การเมืองไทยยังไปไม่ถึงไหน
แต่ผมไม่เคยเชื่อ..และไม่เคยสิ้นหวัง

การเมืองวันนี้กับการเมืองเมื่อ 45 ปีที่แล้ว แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

จากการเมืองของคนเพียงหยิบมือเดียวบนยอดพีระมิดของสังคม แปรเปลี่ยนเป็นการเมืองที่คนหลายสิบล้านสนใจติดตาม เพราะกระทบชีวิตและความอยู่ดีกินดี

จากการเมืองบนโต๊ะกาแฟยามเช้าของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลายเป็นการเมืองที่ถกเถียงกันบนโลก Social Media ผ่านยอดวิวนับล้าน และยอดไลค์-แชร์เกือบแสน

จากการเมืองที่ดูห่างไกลเกินฝัน กลายเป็นการเมืองที่จับต้องได้ กินได้ และเป็นการเมืองที่ต้องฟังเสียงประชาชน

ถูกล่ะ วันนี้เราต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลหลังรัฐประหารมากว่า 4 ปีแล้ว และเสียงของประชาชนอาจก้องดังได้ เพียงแค่เรื่อง ตีทะเบียนหมาแมว ค่าปรับใบขับขี่ และการนั่งหลังรถกระบะ

แต่ใช่หรือไม่ว่า
เพียงเมื่อต้นปี 2561 นี้เอง ไม่มีใครเลยที่เชื่อว่า จะยังคงมีการเลือกตั้ง หรือถ้าจะมี อย่างน้อยก็ต้องอีก 2-3 ปี
ผมถามใครต่อใคร ต่างบอกว่า การเลือกตั้งปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

แล้วการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มาถึงได้อย่างไร
แน่นอน ไม่ใช่การอดทน นั่งรอคอยไปวัน ๆ
แต่จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561
วันที่สัญญลักษณ์ #MBK39 เกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

หลังจากนั้น คำว่า "วันเลือกตั้ง" ก็ไม่เคยห่างหายจากกระแสข่าวอีกเลย

ใช่หรือไม่ว่า

เพียงเมื่อต้นปี 2561 นี้เอง ใครต่อใครบอกว่า การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ก็คงกลับไปสู่วังวนเดิม คนกลุ่มเดิม และกโลบายการเมืองแบบเดิม ๆ

แต่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งบทความ "ไพร่หมื่นล้าน" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ "โรดแมป" การเมือง ของ หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ปรากฎขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมใน Social Media อย่างถล่มทลาย

หลังจากนั้น คำว่า "คนรุ่นใหม่" ก็กลายเป็นเทรนด์ของการเมืองไทยยุคปัจจุบันไปแล้ว

มาถึงวันนี้
"ใครต่อใคร" ที่ชอบทำนายทายทัก ต่างก็บอกอีกว่า อย่าหวังอะไรมากกับ การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะรู้อยู่แล้ว ใครจะมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากกติกาที่แปลกพิสดารของรัฐธรรมนูญ 2560

เอาอีกแล้ว
"ใครต่อใคร" จะมาบอกให้เรางอมืองอเท้า นั่งรอคอยไปวัน ๆ อีกหรือ

วันนี้ เมื่อ 45 ปีที่แล้ว 14 ตุลาคม 2516
ประชาชนมีเพียงสองมือเปล่า วิ่งหลบกระสุนไปมา แต่ยังไม่ยอมถอยจากถนนราชดำเนิน

วันนี้ 14 ตุลาคม 2561
ประชาชนยังคงมีเพียงสองมือเปล่า เรามานับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งกัน

เราจะต้องรณรงค์ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลดีต่อประเทศ

เรามาช่วยกันรณรงค์ให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน เกิน 80% (41 ล้านคน) เพราะหากมีผู้ใช้สิทธิมาก คะแนนจัดตั้งจะมีผลน้อยลง และต้องใช้ถึง 80,000 คะแนนจึงจะได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง (จากเดิมที่คาดกันว่าประมาณ 70,000 คะแนน) คนที่นึกว่าจะกวาดต้อนคะแนนเสียงอย่างง่ายๆ จะต้องคิดใหม่

เรามาช่วยกันเรียกร้องให้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทุกพรรคการเมืองอย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องถึงแก่น เพื่อประชาชนจะได้รับทราบตัวตนที่แท้จริงของนักการเมืองและพรรคการเมือง

เรามาช่วยกันป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งในทุกขั้นตอนและทุกระดับ

มาร่วมกัน ก้าวเดินตามความใฝ่ฝันครั้งใหม่
ทำให้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 คือ "#14ตุลา" ของทศวรรษ 2560

เช้าวันนั้น เรา, ประชาชนกว่า 41 ล้านคน, จะออกจากบ้านของเรา แล้วก้าวเท้าเข้าไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้ เราไม่ได้มีเพียงสองมือเปล่า
เรามีบัตรเลือกตั้ง และ เจตนารมณ์เดือนตุลา แน่วแน่ในดวงใจ....


บาร์ไลน์ฐาน