ค้าน กทม. ใช้ "นมกล่อง" แทน "นมถุง" !! ห่วงนําเข้าพุ่งมากกว่า 2.6 พันล้าน/ปี

16 ต.ค. 2561 | 04:33 น.
ผู้ว่าฯ กทม. ชงมิลค์บอร์ดขอโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง จัดซื้อนมกล่องยูเอชทีแทนนมถุง อ้างลดการใช้ถุงพลาสติกปีละ 200 ตัน วงการค้าน! ระบุ ไทยต้องสั่งกล่องนมนำเข้าปีละ 2.6 พันล้าน หวั่นขาดดุล-เพิ่มขยะ เคาะหลักเกณฑ์นมโรงเรียนใหม่อิงเกณฑ์ ป.ป.ช. ท้วงติง

"รักษ์โลก ลดพลาสติก"
สโลแกนของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งล่าสุด ได้ส่งหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนขอจัดซื้อนมยูเอชทีชนิดกล่องทดแทนนมพาสเจอไรซ์ชนิดถุง จำนวน 100 วัน ในเทอม 2/2561 ได้หรือไม่นั้น

 

[caption id="attachment_332713" align="aligncenter" width="297"] นพดล เจริญกิตติ นพดล เจริญกิตติ[/caption]

นายนพดล เจริญกิตติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะให้โรงเรียนในสังกัด กทม. 50 เขต จำนวน 437 แห่ง ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก เพื่อหวังจะเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาและลดขยะจากการใช้ถุงพลาสติกบรรจุนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งต้องนำไปทำลายทิ้งไม่น้อยกว่า 2.86 แสนถุง/วัน หรือคิดเป็น 200 ตัน/ปี

"ที่ผ่านมา ไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้ากล่องนมยูเอชทีจากต่างประเทศเข้ามาบรรจุนมโรงเรียนปีละ 2,600 ล้านบาท นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการนำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้เคยอธิบายให้ คุณกรณ์ จาติกวณิช สมัยเป็นรัฐมนตรีคลัง ฟัง เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์อยากให้นมโรงเรียนเป็นนมกล่องทั้งหมด ตอนนั้นเข้าใจว่า หากผลิตเป็นนมกล่องคุณภาพจะดีกว่านมถุง แต่ที่ผ่านมา ปรากฏว่านมถุงไม่มีปัญหาเรื่องการบูด หรือ เน่าเสีย และถุงบรรจุเมืองไทยก็ผลิตได้"

สอดคล้องกับ นายกิตติรัตน์ ภัทรปรีชากุล อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ ที่กล่าวว่า การผลิตนมกล่องยูเอชทีมีค่าใช้จ่ายสูง ประเทศขาดดุล เพราะไทยไม่ได้ผลิตกล่องได้เอง ตรรกะเห็นอยู่แล้วว่า ต้นทุนสูง และกำจัดได้ยากกว่า ดังนั้น ผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ


นม

แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ดเผยหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2/2561 ว่า ล่าสุด นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ด ได้ลงนามประกาศวันที่ 10 ต.ค. 2561 ให้ผู้ประกอบการต้องใช้นํ้านมโคที่มีจำนวนเซลล์โซมาติกไม่เกิน 5 แสนเซลล์/ลบ.ซม. โดยตรวจสอบนํ้านมก่อนที่ผลิตหน้าโรงงาน และใช้นํ้านมโคที่มีปริมาณเนื้อนมรวม (Total Solid) ไม่ตํ่ากว่า 12.25% โดยตรวจสอบนํ้านมก่อนผลิตที่หน้าโรงงานผลิต ผลิตนมโรงเรียนให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง : นมโคและมาตรฐานจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค พร้อมแสดงหลักฐานการตรวจยาปฏิชีวนะในนํ้านมดิบ ทั้งนี้ ต้องมีไขมัน (FAT) รวมกับเนื้อนมไม่รวมไขมัน ไม่น้อยกว่า 11.95%

ส่วนการจัดสรรสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตและพื้นที่จำหน่ายในพื้นที่เดียวกัน หรือ ใกล้เคียงก่อน อาทิ จัดสรรให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์น้อยกว่า 5 หมื่นกล่อง/ถุง/วัน แต่หากมีผู้ประกอบการพื้นที่มากกว่า 1 แห่ง ให้จัดสรรสิทธิ์จำหน่ายในพื้นที่ โดยเฉลี่ยในจังหวัดนั้นกับสหกรณ์ขนาดเล็ก หรือ สถาบันการศึกษา หรือ ผู้ประกอบการนมเอกชนรายเล็กในพื้นที่ไปก่อน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,409  วันที่ 14- 17 ตุลาคม  2561

595959859