สรท.พบปมห้ามโอนใบอนุญาต

18 ต.ค. 2561 | 04:47 น.
ควบรวมกิจการทีโอที-แคท ส่อเค้าวุ่นหลัง สรท.พบช่องโหว่ทางกฎหมาย เผยมาตรา 46 พ.ร.บ.กสทช.2535 ระบุชัดห้ามโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ชี้ผู้ได้สิทธิ์ต้องบริหารจัดการเอง ล่าสุดส่งเรื่องถึง “ฐากร” ชี้่แจงให้กระจ่าง

นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ หรือ สรท. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับการให้ความเห็นและความรับผิดชอบอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในกรณีการควบบริษัท

เหตุผลที่ สรท.ได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการ กสทช. เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และได้มีมติในหลักการการปรับโครงสร้างองค์กร โดยการควบรวมกิจการ (Consolidation) ของทั้ง 2 หน่วยงานให้เป็นองค์กรเดียวกัน ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอและมอบหมายให้จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการข้างต้นและนำเสนอให้ คนร.พิจารณาภายในพฤศจิกายน 2561 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป MP20-3410-B

นายพงศ์ฐิติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน บมจ.ทีโอที ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ บมจ.กสท ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ และทั้ง 2 องค์กรได้นำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปให้บริการกับพันธมิตรและมีรายได้ 8 ปี เป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท แต่หากรวมค่าคลื่นความถี่ทั้ง 3 คลื่นความถี่ด้วยกันจะมีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

“การประชุม คนร.ผ่านมาเราพบประเด็นข้อกฎหมายที่จะต้องรับความกระจ่างก่อนการดำเนินการควบรวมกิจการ เพื่อมิให้การควบรวมกิจการใช้คลื่น 2100 และ 2300 เมกะเฮริตซ์ ของ บมจ.ทีโอที ในการประกอบกิจการโทรศัพท์ไร้สาย เพราะบทบัญญัติตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ.2553 กำหนดข้อห้ามการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมไว้อย่างชัดเจน และกำหนดบังคับให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการด้วยตนเองเท่านั้น”

ประเด็นดังกล่าว สรท.จึงได้ทำหนังสือสอบถาม กสทช.ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ.2553 และ มีหน้าที่กำกับประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเด็นข้อกฎหมาย คือ การควบรวมบริษัท จะเป็นการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และเป็นการมอบให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทดำเนินกิจการแทน อันเข้าข่ายเป็น
การต้องห้ามตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ.2553 หรือไม่เพียงใด และ กสทช.มีอำนาจในการชี้ขาดหรือวินิจฉัย หรือ ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ และถือเป็นที่สุดให้ต้องปฏิบัติตามความเห็นของ กสทช.หรือไม่ รวมทั้งหากมีการโต้แย้งในภายหลังว่าความเห็นของ กสทช.ไม่ถูกต้อง ทั้ง 2 องค์กรหรือบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ จะได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานใด และทำให้มีผลกระทบกับการได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในภายหลังหรือไม่ประการใด

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,410 ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62-7