รีแบรนด์ประเทศไทย...สู่บทบาทผู้นำในเวทีโลก

17 ต.ค. 2561 | 09:16 น.
ปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่ม ACMECS หรือข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่นํ้าอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และปีหน้าก็เป็นวาระที่ไทยจะได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียน 10 ประเทศ การรับบทบาทผู้นำในกลุ่มอนุภูมิภาคมีความสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนายนิกรเดช พลางกูร รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับทราบมุมมองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

7 ปีกำลังดี...รีแบรนด์ประเทศไทย

ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไทยเราโดยบทบาททุกวันนี้ เราไม่ได้พูดแล้วว่าเราจะเป็นหัวหอก หรือเป็นฮับ แต่ว่าไทยกำลังปรับภาพลักษณ์ ด้วยการกระทำ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศนั้น เรากำลังรีแบรนด์ (rebrand) ประเทศไทยในรูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่เราอาจจะไปซื้อสื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ผมมองว่าการปรับภาพลักษณ์ในยุคปัจจุบัน คือการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง แล้วเทคโนโลยีการสื่อสารจะช่วยเผยแพร่ข่าวสารให้เราเอง เคยมีคนถามผมว่าถ้าต้องการจะบอกชาวโลกว่า ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (medical hub) ของภูมิภาค จะลงสื่ออะไรดีในงบประมาณจำนวนหนึ่ง ผมบอกว่าในความเห็นส่วนตัว เอาเงินตรงนี้ไปช่วยผ่าตัดหัวใจหรือเอาไปช่วยรักษาคนป่วยหนักที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในประเทศไทยดีกว่า ซึ่งเขาก็เอาไปทำจริงๆ แล้วสื่อจากนานาประเทศ รวมถึงโซเชียลมีเดียที่มีมากมาย ก็มาช่วยกระจายข่าวอย่างที่เราไม่ต้องเรียกร้องเลย  เพราะฉะนั้น “การทำจริง” จึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียกระจายข่าวได้เร็วมาก การทำแบรนดิ้งเดี๋ยวนี้จึงต้องตั้งอยู่บนความจริง เราทำได้แค่ไหน เราเป็นอะไร เราต้องรู้ตัว ต้องหาตัวเองให้เจอ แล้วสื่อออกไปจากการกระทำว่าเราต้องการรีแบรนด์ประเทศไทยให้เป็นอะไร

[caption id="attachment_332460" align="aligncenter" width="283"] นิกรเดช พลางกูร นิกรเดช พลางกูร[/caption]

ถามผมว่าทิศทางแบรนดิ้งที่เราอยากให้เป็นไปคืออะไร ก็คือการที่ไทยได้เป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมเขียนกฎระเบียบใหม่ของโลก และเป็นผู้นำประเทศหนึ่งที่ไม่ใช่ผู้นำประเภทที่ชี้นิ้ว แต่เรานำในความหมายของการนำอนุภูมิภาคเดินไปด้วยกัน เราใช้ภาษาอังกฤษว่า enabler หรือเป็น facilitator คือเป็นผู้ช่วยให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปสู่ global value supply chain ให้ได้ แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีเป้าหมายคนละเป้า ทุกประเทศมีวาระแห่งชาติของตัวเองซึ่งเราก็เคารพในจุดนั้น แต่เราก็พูดเสมอว่า ถ้าเราไม่พูดเป็นเสียงเดียวกันหรือมีแผนการร่วมกัน เสียงของเราก็จะไม่ดังมากพอ

ตั้งแต่ปี 2016 ไทยเราเป็นประธานเอซีดี (กรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ Asia Cooperation Dialogue: ACD ประกอบด้วย 32 ประเทศ) ต่อมาปี 2018 เราเป็นประธาน ACMECS ปีหน้า (2019) เราจะเป็นประธานอาเซียน และปี 2022 เราจะเป็นประธานเอเปก กระบวนการปรับภาพลักษณ์ต้องใช้เวลา ซึ่งเรามองว่า ปี 2016-2022  ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 7 ปี กำลังสวยเลย คือระบบระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนสู่ยุคของทุนนิยม 4.0 กฎระเบียบเก่าหลังยุคสงครามโลกซึ่งโลกตะวันตกเป็นคนเขียนและเรามองว่ามันอาจจะไม่ค่อยแฟร์ กำลังถูกเขียนขึ้นใหม่ โดยประเทศอย่าง จีน อินเดีย และกลุ่ม BRICS (กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa)

[caption id="attachment_332461" align="aligncenter" width="503"] เส้นทาง East-West Corridor ภายใต้กรอบ ACMECS เส้นทาง East-West Corridor ภายใต้กรอบ ACMECS[/caption]

ถามว่าประเทศไทยเราจะมีบทบาทอย่างไร เรามองว่าไทยต้องไม่ใช่ผู้รับระบบ โดยเขาวางมาอย่างไร แล้วเราก็เล่นตามเกมนั้น มันไม่ใช่แล้ว แต่ไทยต้องเข้าไปร่วมเขียนระบบ กฎระเบียบที่กำลังเขียนขึ้นมานี้ไทยกำลังจะเข้าไปมีบทบาท ซึ่งก็ด้วยการเข้าไปมีบทบาทนำในภูมิภาคของเราให้ได้ ผ่านเวทีของ ACMECS, ACD, APEC และอาเซียนอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โอกาสของเรามีอยู่แล้ว  เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับใครให้มาเรียกไทยว่าเป็นศูนย์กลาง เป็น hub หรืออะไร แต่ว่าเวลาใครจะพูดอะไร เขาจะหันมาถามเราว่าไทยจะไปทางไหน เพราะเราเข้าไปอย่างนอบน้อม เวลาเราพูดกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMVT (ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เราไม่ได้บอกว่าใครเจริญกว่าใคร แต่เรามองว่านี่คือกลุ่มเศรษฐกิจเดียวกัน เป็น one emerging economy ไทยจะออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เราต้องไปในทิศทางเดียวกัน ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่งั้นเราจะถูกแบ่งซอยเป็น 5 ประเทศภายใต้ระเบียบคนละระเบียบ แต่ถ้าเราพูดเป็นเสียงเดียวกัน เช่นภายใต้ ACMECS เราจะกลายเป็นแลนด์บริดจ์ทันทีเลย

ศักยภาพที่เพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างภายใต้กรอบของ ACMECS เรากำลังใช้แผนแม่บทสำหรับทั้งอนุภูมิภาค สองปีนี้เราจะไม่พูดเรื่องอื่นเลย คือภายในประเทศของตัวเองใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป แต่เราจะทำให้การเดินทางจากเมาะลำไยผ่านประเทศไทยไปดานัง หรือ East-West Corridor นี่เราต้องทำให้ได้ภายใน 35 ชั่วโมง ไม่ใช่ 5 วัน และจากทวาย (ในเมียนมา) ผ่านไทยไปหวุงเต่า (ในเวียดนาม) เราต้องทำให้ได้ภายใน 30 ชั่วโมง ไม่ใช่ 5 วัน เป็นต้น อันนี้คือเป้าหมายร่วม ฉะนั้นจะเป็นกัมพูชา เวียดนาม ลาว ไทย เวลาใครไปพูดในเวทีต่างประเทศ เราก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า East-West Corridor ของเราต้องเดินทางได้ภายใน 35 ชั่วโมง ให้มันเป็นคำติดปากไปแล้ว เป็นนโยบายที่ไทยเราผลักดันผ่าน ACMECS เพราะเราอยู่ในตำแหน่งที่ทำได้

ถามว่าคนที่จะขนเงินมาลงทุน มาบ่มเพาะธุรกิจของเขา โดยธรรมชาติแล้วเขาจะมาลงที่ไหน ก็ต้องมองมาที่อีอีซี (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ของไทยเรา เพราะความพร้อมมันอยู่ตรงนั้น หลายเรื่องเราไม่ต้องประกาศหรือโฆษณาตัวเองเลยแต่เราลงมือทำ และถ้าวันดีคืนดีเราสามารถเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค คำว่า “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ก็จะไม่ไปไหน ก็จะมาอยู่ที่เมืองไทย นี่คือทิศทางที่กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศมอง เรามองบริบทของโลกประกอบไปกับบริบทของภูมิภาคและของประเทศอยู่เสมอ

ยุคที่รัฐ-เอกชนจับมือไปด้วยกัน 

กระทรวงมองว่าโลกกำลังอยู่ในยุคที่ทุนนิยมกำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเสรีนิยม 4.0 ก็ได้ คือ เป็นยุคที่ทั้งรัฐและเอกชนรู้ว่าตัวเองไม่ได้สมบูรณ์แบบ รัฐไปเดี่ยวๆ ไม่ได้ และเอกชนก็รู้ว่าไปเดี่ยวๆ ไม่ไหว ฉะนั้นมันเป็นยุคที่รัฐและเอกชนต้องจูงมือกันเดิน เป็นยุคแห่ง partnership เป็นยุคที่ไปไหนต้องไปด้วยกัน โดยต่างคนต้องยอมรับว่าต่างมีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน รัฐมีหน้าที่ช่วยออกกฎระเบียบ ช่วยเปิดตลาดให้อย่างเต็มที่ และมีหน้าที่รับฟังเสียงของเอกชนมากขึ้น เพื่อมาคิดระบบระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับการเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์กับต่างประเทศ ซึ่งจุดนั้นก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนไทย  ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และทำอย่างไรให้นักธุรกิจ ไทยไปไหนแล้วไม่อายใคร

............................................................................................................................

สัมภาษณ์พิเศษ| หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,410 ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62-7