"เศรษฐกิจจีน" วูบ! ส่งออกปีหน้าอ่วม

12 ต.ค. 2561 | 13:14 น.
121061-1959

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กระทบเศรษฐกิจโลก ... ไอเอ็มเอฟปรับลดตัวเลขประมาณการการขยายตัวจาก 3.9% เหลือ 3.7% เอกชนคาดปีหน้าส่งออกไทยไป 2 ตลาดใหญ่วูบแน่

ก่อนการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ไอเอ็มเอฟได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในปี 2561 โดยมีการปรับตัวเลขลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.9% เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ลดลงสู่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นการปรับลดตัวเลขประมาณการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2559 เป็นต้นมา ปัจจัยหลัก ๆ มาจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก (ตามลำดับ) และแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่าง "บราซิลและตุรกี"

การประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟร่วมกับธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ในปีนี้ มีประเด็นการเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นประเด็นหลัก โดยไอเอ็มเอฟตั้งสมมติฐานว่า หากสงครามการค้ายังยืดเยื้อต่อไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงมากกว่า 0.8% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 และจะอยู่ต่ำกว่าความคาดหมายราว 0.4% ในระยะยาว และจีนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐฯ โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า กรณีเลวร้ายสุดจากสงครามการค้าจะทำให้การขยายตัวของจีดีพีจีนลดลงมากกว่า 1.6% ในปี 2562 และจะโตเพียง 6.2% ลดจากเดิมที่คาดไว้ 6.4% ส่วนจีดีพีสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวลดลง 0.9%


100083

สอดคล้องกับการคาดหมายของธนาคารโลกที่ว่า ผลของสงครามการค้าจะทำให้เศรษฐกิจจีนในปี 2562 ขยายตัวในอัตราลดลงจาก 6.5% ในปีนี้ เหลือเพียง 6.2% "เศรษฐกิจของจีนยังคงเติบโตในระดับปานกลาง เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ" รายงานของธนาคารโลก ระบุ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารกลางของจีนได้ประกาศลดวงเงินสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ลงเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ และจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้มีกระแสเงินสดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกราว 1.2 ล้านล้านหยวน หรือราว 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นความพยายาวกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ นักวิเคราะห์มองว่า ความพยายามใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินยังน้อยไป และช้าไปสำหรับการประคองเศรษฐกิจไม่ให้ตกสู่ภาวะชะลอตัวรุนแรง โดยเฉพาะในบริบทที่ถูกสหรัฐฯ กดดันทางการค้าอย่างหนักในเวลานี้ อีกสัญญาณเตือน คือ การอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินหยวน แม้จะส่งผลให้สินค้าจีนแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้นในตลาดโลก แต่ก็ทำให้สินทรัพย์ของจีนมีมูลค่าลดลงและไม่น่าสนใจในสายตานักลงทุน สะท้อนจากช่วงเปิดตลาดหลังวันหยุดยาว 1 สัปดาห์ ปรากฏว่า ดัชนี CSI300 ของจีน ดำดิ่งลง 3% ขณะที่ ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต ดิ่งลง 2.4%

 

[caption id="attachment_332306" align="aligncenter" width="500"] SHSZ300:IND Shanghai Shenzhen CSI 300 Index www.bloomberg.com SHSZ300:IND
Shanghai Shenzhen CSI 300 Index
www.bloomberg.com[/caption]

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเปิดตลาดหลังเทศกาลวันหยุดจีน ต้องพบกับภาวะตลาดหุ้นที่ดิ่งลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ในวันจันทร์ที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นที่ซื้อขายกันในสกุลเงินหยวนคิดเป็นมูลค่ารวม 9,700 ล้านหยวน ผ่านทางตลาดในฮ่องกง หุ้นของบริษัทยอดนิยมของจีน เช่น ผิงอัน อินชัวรันซ์ เกวยโจว เมาไถ่ และหังโจว ฮิควิชั่น ดิจิตอล เทคโนโลยี ที่เคยทำราคาพุ่งอย่างน้อย 97% ในปีที่ผ่านมา กลับเป็นหุ้นที่ถูกเทขายมากที่สุด โดยเทรดเดอร์ต่างชาติ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ขณะที่ ค่าเงินหยวนลดลง 0.9% สู่ระดับ 6.9315 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การส่งออกไทยในปี 2562 น่าห่วง เพราะจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังยืดเยื้อ จะกระทบกับเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออกจะขยายตัวลดลง และจะลดการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย รวมถึงการบริโภคในจีนจะชะลอตัวลง ส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีหน้า จะเผชิญกับมาตรการปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยจะมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น

"ในปี 2562 แนวโน้มการส่งออกไทยจะขยายตัวลดลงจากปีนี้แน่นอน เพราะ 2 ตลาดใหญ่ คือ สหรัฐฯ และจีน ที่คิดเป็นสัดส่วนส่งออกของไทยรวมกันประมาณ 24% ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจะขยายตัวลดลงโดยเฉพาะจีน ซึ่งการส่งออกไทยปีหน้าอาจถึงขั้นติดลบก็เป็นได้"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11 - 13 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ธ.ก.ส. ผนึก แบงก์เกษตรจีนพัฒนาบุคลากรและ SMEs เกษตร
กต.แจงไร้ปัญหาการออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน


เพิ่มเพื่อน
บาร์ไลน์ฐาน