มองมังกรปรับทัพ เล็งรับโอกาสภาคธุรกิจ

25 ก.พ. 2559 | 05:41 น.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง  “มองมังกรปรับทัพ เล็งรับโอกาสภาคธุรกิจ”

ในเดือนมีนาคม 2559 จีนจะเผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2559-2563) อย่างเป็นทางการ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างไปสู่ “new normal” ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลกอย่างมากในทศวรรษข้างหน้า ในฐานะที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในระดับสูงและมีจีนเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ อีไอซีแนะผู้ประกอบการไทยควรจับตามองอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับพลวัตทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที

แม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง แต่อีไอซีมองว่าบทบาทของจีนในเวทีโลกกลับจะทวีความสำคัญมากขึ้นจากแผนการปฏิรูปของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวในระดับสูงโดยเฉลี่ยกว่า 9% ต่อปี จากแรงขับเคลื่อนหลักในภาคการลงทุน แต่เมื่อการลงทุนชะลอตัว หลายภาคอุตสาหกรรมจึงมีกำลังการผลิตส่วนเกินจนเกิดภาวะอุปทานล้นตลาด ทำให้จีนตระหนักว่าการพึ่งพาการลงทุนไม่ใช่การเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจอีกต่อไป โดยในการประชุม 5th Plenum ที่ผ่านมา ในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลจีนได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีข้างหน้า (2559-2563) ซึ่งตั้งเป้าให้เศรษฐกิจจีนเติบโตโดยเฉลี่ย 6.5% ต่อปี เพื่อที่จะทำให้ GDP ต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าได้ทันภายในปี 2563 โดยอีไอซีมองว่า

จีนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญระดับโลก 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ 1) การเพิ่มบทบาทจีนในตลาดทุนโลก 2) การยกระดับจากผู้ผลิตสินค้าพื้นฐานเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง 3) การเพิ่มจำนวนของผู้มีรายได้ปานกลางที่จะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ที่อยู่อาศัย และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในต่างแดน

ในมิติแรก อิทธิพลจากเงินทุนจีนที่หลั่งไหลไปนอกประเทศจีน กำลังทำให้กระแสเงินทุนโลกเปลี่ยนทิศทาง เพราะจีนได้ผันตัวเองเป็นผู้ส่งออกทุนรายใหญ่ของโลกจากเดิมที่เป็นแหล่งรับเงินลงทุนจากต่างชาติ การส่งออกทุนไปต่างประเทศของจีนนั้น  แต่เดิมเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิต หรือ “โรงงานของโลก” แต่แนวโน้มการลงทุนของจีนในช่วงถัดไปจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสานต่อนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (One Belt One Road) ด้านการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี และสินค้าบริการเพื่อตอบรับการขยายตัวของภาคบริโภคของจีน เห็นได้จากมูลค่าการควบรวมกิจการในต่างประเทศ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ที่ขยายตัวจากปี 2557 ทั้งปีแล้วกว่า 55% อีไอซีจึงมองว่าเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศของจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินหยวนทวีความสำคัญในตลาดการเงินโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันตลาดทุนและการออกตราสารของจีนก็จะเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลกเช่นเดียวกัน

มิติที่สอง จีนวางเกมเพื่อยกระดับตนเองขึ้นเป็นผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยตั้งเป้าเป็น technological innovation hub ภายในปี 2568 ด้วยการผลักดันนโยบายการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ (technology transfer) และการสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ด้านเทคโนโลยี (tech start-up) รวมถึงลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างเต็มที่  ทำให้จีนสามารถเพิ่มบทบาทในการค้าการลงทุนในเวทีโลกด้วยความเป็นผู้นำนวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จีนได้พัฒนาจากการเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (adopter, adapter) จนสามารถนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นจากต้นแบบเดิม (applier) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจีนสามารถสร้างรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงที่สุด และมีระยะรางยาวที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันบริษัทใหญ่ๆ ในจีนเริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตกลุ่มนักวิจัยระดับปริญญาเอกในสาย STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เพิ่มขึ้นหลายพันคน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ประกอบกับการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มที่ของทั้งภาครัฐ คิดเป็นงบประมาณกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภาคเอกชน จีนกำลังจะกลายไปเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ (innovator) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตอันใกล้

และในมิติสุดท้าย กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางกับกำลังซื้อมหาศาลกำลังปฏิวัติตลาดผู้บริโภคของจีนเพราะทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งการท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัยในต่างแดนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่การบริโภคในประเทศยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เห็นได้จากยอดค้าปลีกที่ส่งสัญญาณดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 รวมไปถึงรายได้ต่อหัวประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่มีอิทธิพลคือผู้มีรายได้ปานกลางที่มีจำนวนราว 109 ล้านคน ซึ่งนับว่ามากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวจีนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันมาจับจ่ายผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ (e-commerce) มากขึ้น  ห่วงใยสุขภาพ และต้องการสินค้าที่มีความเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีไอซียังคาดว่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กและผู้สูงอายุจะโตได้ดีขึ้น จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ยิ่งไปกว่านั้น  ชาวจีนได้เพิ่มความนิยมในการท่องเที่ยวต่างประเทศ และซื้อที่อยู่อาศัยในต่างแดนมากขึ้นเรื่อยๆ  อีไอซีมองว่าตลาดผู้บริโภคของจีนทั้งในด้านการบริโภค การท่องเที่ยว และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นตลาดที่มีโอกาสในเติบโตอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทย

 

จะเห็นได้ว่าจีนกำลังช่วงชิงบทบาทและความสำคัญในเวทีโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกำลังก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้บริบทของการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน  โดยอีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสเสนอสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ รวมไปถึงพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี และเตรียมความพร้อมในการรองรับเงินทุนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในหลากหลายธุรกิจ เพื่อให้ไทยสามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของจีน และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ธุรกิจและเติบโตไปพร้อมกับจีนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต