เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่และระบบขนส่งอัจฉริยะ (จบ)

17 ต.ค. 2561 | 09:10 น.
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภาคเอกชนของอียู ที่มีความรุดหน้าในทุกวันนี้ หัวใจสำคัญคือการทุ่มเทด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก นโยบายของอียูเน้นให้ความสนับสนุนภาคเอกชนผ่านการส่งเสริมด้านงานวิจัย และเพิ่มขีดความสามารถ-ทักษะความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากร รวมทั้งให้ข้อมูลความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมให้ความสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาระบบชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น

[caption id="attachment_334192" align="aligncenter" width="503"] คณะศึกษาดูงานด้านยานยนต์สมัยใหม่ ( Next Generation Automotive) และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ที่ประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 23-30 กันยายน 2561 จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะศึกษาดูงานด้านยานยนต์สมัยใหม่ ( Next Generation Automotive) และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ที่ประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 23-30 กันยายน 2561 จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)[/caption]

ส่งเสริมงานวิจัยคือหัวใจสำคัญ

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากนโยบายหลักที่ภาครัฐให้การส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ในแง่มุมของการวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในอนาคตนั้น หนึ่งในโครงการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดน่าจะได้แก่ โครงการความร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2533 และขณะนี้กำลังอยู่ในระยะที่ 2 (2560-2563)  อาจารย์สุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ นักวิจัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยต้นแบบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หน่วยวิจัยนวัตกรรมและวิศวกรรมจากสวทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โครงการมีความคืบหน้าเป็นลำดับแม้ว่าจะมีความล่าช้าไปบ้าง แต่รถยนต์ดัดแปลงคันแรกจากโครงการวิจัยกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

เป้าหมายของโครงการที่เรียกว่า “โครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือดัดแปลง (EV Kit & Blueprint Project)” คือ การออกแบบชิ้นส่วนหลัก 7 รายการของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ในอนาคตผู้ประกอบการไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ได้เองภายในประเทศ และเพื่อแสวงหาองค์ความรู้และรูปแบบที่เหมาะสมในการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในที่มีอยู่ในท้องตลาด ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ปราศจากการใช้เครื่องยนต์และสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยแบตเตอรี่ 100% ซึ่งแบตเตอรี่หรือขุมพลังของยานยนต์ไฟฟ้านั้น นับเป็นหัวใจสำคัญที่นักวิจัยของไทยพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวัสดุและงานระบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางพลังงานไฟฟ้าเคมี หน่วยวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ให้ความเห็นว่า เป้าหมายของนักวิจัยที่ทำงานในเรื่องนี้คือการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก นโยบายส่งเสริมของภาครัฐในขณะนี้ มองว่ายังไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากนัก ทั้งเป้าหมายในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น จะพัฒนาแบตเตอรี่ที่ช่วยลดต้นทุนพลังงานได้กี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า บริษัทเอกชนที่ทำงานวิจัยและพัฒนาในเรื่องที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จะยังไม่มีรายได้มากนัก รัฐบาลควรจะต้องเข้ามาส่งเสริม เช่น ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ยกเว้นภาษีนำเข้าวัสดุหรือชิ้นส่วนที่จะต้องนำมาใช้ในการประกอบ และอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น (ต่องานวิจัยและพัฒนา) ให้ออกจากท่าเรือได้เร็วขึ้น “เราต้องมาดูว่า เป้าหมายการพัฒนา(อุตสาหกรรม)ของเราคืออะไร เราอยากเป็นเพียงผู้ผลิตในซัพพลายเชน หรือเป็นเจ้าของนวัตกรรม ถ้าหากเป้าหมายเราคืออย่างหลัง รัฐบาลก็ต้องช่วยสร้างตลาดขึ้นมา เช่นหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ซื้อฟลีตรถไฟฟ้า (ของไทย) มาใช้ พร้อมๆไปกับการสนับสนุนการเก็บข้อมูล และการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้เป็นแนวโน้มที่ดีที่ภาคเอกชนของเราตื่นตัวและช่วยให้งานวิจัยรุดหน้าไปได้มาก”

[caption id="attachment_334194" align="aligncenter" width="503"] จุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าริมถนนในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส จุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าริมถนนในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส[/caption]

“ผมมองว่าเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าและเมืองอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องของทางเลือก เพราะมันเป็นกระแสโลก เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ไม่ว่าเราจะอยากได้หรือไม่ อย่างไรมันก็ต้องมาและมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราแน่นอน ดังนั้น เราคงต้องเลือกว่าเราจะเป็นผู้ตามเมื่อกระแสมันมาถึงและส่งผลกระทบกับเรา หรือเราจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้” คุณอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร ผู้บริหารบริษัท แองเจิ้ล ซิตี้ฯ และผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มพันธมิตรยานยนต์ไฟฟ้าไทย” ให้ความเห็น และยกตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่มพันธมิตรยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเริ่มปลูกฝังตั้งแต่กลุ่มคนหนุ่มสาว เช่นมีการจัดกิจกรรม EV Cup 2018 แข่งขันการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า 3-4 ล้อ ชิงเงินรางวัลสำหรับนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นต้น

ต้องเจาะตลาดที่แตกต่าง

เมื่อเป็นของใหม่ เป็นยานยนต์ทางเลือกที่ผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคย การเจาะตลาดเพื่อสร้างจุดยืนที่มั่นคงในระยะแรกจึงต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ อาศัยแบบจำลองธุรกิจที่แตกต่างออกไปในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่าง มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า “สตรอม” (Strom ในภาษาเยอรมัน แปลว่า ไฟฟ้า) แบรนด์ไทยผลงานของบริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นปี 2560 กลยุทธ์ของบริษัท
คือการผลิตตามสั่ง (made to order) โดยแม้จะมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นที่บริษัทออกแบบสำเร็จไว้ให้เลือกแล้วถึง 6 รุ่นด้วยกัน แต่ลูกค้าก็สามารถสั่งผลิตตามออร์เดอร์พิเศษได้โดยอาศัยโครงสร้างหลักของรุ่นที่บริษัทมีอยู่ เป็นการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์กระแสหลักอาจจะไม่ได้ให้นํ้าหนักกับตลาดส่วนนี้มากนัก  “สมบูรณ์ อ่อนน้อม” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และฝึกอบรม บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีการคุยกับลูกค้าหลายรายในการผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า made to order เพื่อป้อนเป็น fleet ให้ลูกค้านำไปใช้งาน บางรายอยู่ในขั้นของการร่วมออกแบบและทดสอบวิ่ง เพื่อให้ได้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ตรงใจกับวัตถุประสงค์ของลูกค้ามากที่สุด เช่นมอเตอร์ไซค์สำหรับบริการส่งของ (delivery) ซึ่งหากสำเร็จลุล่วงด้วยดี อาจจะเรียกได้ว่านี่คือ Green Logistics หรือมอเตอร์ไซค์ขนส่งระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เนื่องจากไม่ปล่อยไอเสียและไม่สร้างมลพิษทางเสียง) รายแรกของเมืองไทยเลยก็ว่าได้

tuktuk

เช่นเดียวกับฟลีตรถตุ๊กๆ(สามล้อเครื่อง)ระบบไฟฟ้าของบริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทคฯ ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท สิขร จำกัด นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของรูปแบบการเจาะตลาดใหม่ๆ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของบริษัทเอกชนไทย คุณศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจของเออร์เบิน โมบิลีตีฯ บริษัทสตาร์ทอัพไฟแรง และคุณระวิทัต สุคนธสิงห์ กรรมการบริษัท สิขรฯ ผู้เชี่ยวชาญการดัดแปลงรถเครื่องยนตร์ธรรมดาให้เป็นรถไฟฟ้า ร่วมกันให้ข้อมูลว่า โครงการที่เกิดขึ้นเป็นการนำสามล้อเครื่องระบบไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงงานของสิขร มาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ Tuk Tuk Hop ซึ่งใช้งานง่ายเป็นบริการเรียกตุ๊กๆ วิ่งตามเส้นทางที่กำหนดรอบๆ เกาะรัตนโกสินทร์ เริ่มจากท่ามหาราช ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เมื่อโหลดแอพฯมาก็สามารถเรียกตุ๊กๆมาใช้บริการ on demand ด้วยราคาเหมาจ่าย 299 บาท/คน/วัน ลูกค้าสามารถเรียกรถมารับ-ส่งตามจุดต่างๆในเส้นทางได้ตามใจทั้งวัน จะเรียกกี่ครั้ง ไปกี่ที่ก็ได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีรถ และตัดปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวถูกตุ๊กๆหลอก เนื่องจากมีการคัดกรองคนขับ ปัจจุบันมีรถให้บริการเป็นรถตุ๊กๆไฟฟ้า 7 คัน เป็นรถตุ๊กธรรมดา 30 คัน และมีรถตุ๊กๆ ไฟฟ้าที่ผลิตเสร็จแล้วแต่รอจดทะเบียนอีก 18 คัน ถามว่าเพียงพอไหม คุณศุภพงษ์ตอบว่า ยังไม่เพียงพอ แต่การสั่งผลิตก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป บริษัทยังมีแอพพลิเคชัน MuvMi (มูฟมี) สำหรับบริการขนส่งแบบแชริ่ง (sharing transportation) อีกด้วย

แผนงานที่จะเห็นในปีหน้าคือความร่วมมือระหว่างเออร์เบิน โมบิลิตี้ กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มมิติด้านการท่องเที่ยวให้กับรถตุ๊กๆไฟฟ้า เช่น การให้ข้อมูลการเดินทาง-การท่องเที่ยวแก่ลูกค้า(ผู้โดยสาร) อีกส่วนเป็นแผนการขยายพื้นที่ให้บริการของทัพยานยนต์ไฟฟ้าในเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยหลักๆน่าจะเป็นที่สยามสแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ประตูนํ้า ซึ่งเป็นจุดที่ลูกค้าขอมามากให้บริษัทขยายบริการเข้าไป “ผมมองว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเสนอบริการตุ๊กๆไฟฟ้าที่เป็นนวัตกรรมด้านยานยนต์และแอพ พลิเคชันบริการด้านขนส่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ แต่มันยังเป็นการนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาการเดินทางในเมืองให้กับประเทศเราอีกรูปแบบหนึ่ง”

อ่าน | เรียนรู้จากยุโรป : ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 1) 
อ่าน | เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 2) 
อ่าน | เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 3) 
อ่าน | เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่และระบบขนส่งอัจฉริยะ ( ตอน จบ) 
..............................................................................................

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,409 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561

595959859