'รีคัลท์' กิจการเพื่อสังคมเกษตรกร สร้างอาวุธ ผลักดัน "สมาร์ทฟาร์เมอร์" ตัวจริง

19 ต.ค. 2561 | 03:15 น.
จากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ได้กลายเป็นไอเดียที่จุดประกายให้ "เอิร์น - อุกฤษ อุณหเลขกะ" และเพื่อน ๆ ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเกษตรกร พร้อมจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) ภายใต้ชื่อ "รีคัลท์" (Ricult) โดยตัวเขาเองนอกจากเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแล้ว ยังทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทด้วย

"เอิร์น" หนุ่มวัย 29 ปีคนนี้ จบปริญญาโทวิศวกรรมและบริหารจัดการจากเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่กับแอคเซนเจอร์ ที่สำนักงานบอสตัน และยังเคยเป็นวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ ที่ซิสโก ซิลิคอน วัลเลย์ มาแล้ว


TUL_1675

จุดเริ่มต้นของกลุ่ม 'รีคัลท์' คือ การเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ๆ ด้วยการสร้างแอพพลิเคชัน "ฟาร์มแม่นยำ" ที่มีฟีเจอร์ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบ Machine Learning มาประมวลและแปรผล วิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพอากาศและสุขภาพพืช เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาจัดการและวางแผนการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน โดยปีที่แล้ว รีคัลท์ได้เข้าร่วมโครงการสตาร์ตอัพของดีแทค แอคเซอเลอเรท

"เอิร์น" บอกว่า ตอนเริ่มต้น คือ ทำแค่เรื่องของการวิเคราะห์สภาพอากาศ แต่เมื่อได้คุยกับเกษตรกรจริง ๆ พบว่า เรื่องอุณหภูมิ เกษตรกรไม่ค่อยสนใจ เขาสนใจเรื่องของปริมาณนํ้า ปริมาณนํ้าฝน รวมทั้งความชื้น เกษตรกรอยากได้ตัวช่วยว่า แต่ละวันต้องทำอะไร ช่วยให้เขาเห็นภาพใหญ่ ๆ ของแปลงเพาะปลูกได้ โดยไม่ต้องวิ่งลงสวนหรือลงนาที่มีอยู่ 25-30 ไร่ เพื่อไปหาปัญหาว่าเกิดขึ้นตรงไหน

"ตอนแรกที่เราทำเอง ก็ยังไม่มีลูกค้ามากนัก แต่เมื่อดีแทคเข้ามาช่วยเสริม ก็เป็นเหมือนสปริงบอร์ด ทำให้เราได้พบเกษตรกรมากขึ้น ไปรับรู้ฟีดแบ็กจากเกษตรกรว่า เขาต้องการอะไร เราได้ข้อมูลจากเกษตรกรหลายร้อยคน รู้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร"

"เอิร์น" เล่าว่า ตอนนี้มีสมาร์ทฟาร์เมอร์แสนรายได้เข้ามาทดลองใช้แอพพลิเคชันของเขาแล้ว โดยแอพพลิเคชันตัวนี้ รองรับการวิเคราะห์ข้อมูลของพืช 4 ชนิด คือ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และทุเรียน และภายในอีก 2-3 เดือนนี้ จะรองรับอีก 5 พืชไร่และพืชสวน ได้แก่ ยางพารา มะม่วง ข้าว ลำไย มะพร้าว


TUL_1511

แอพพลิเคชัน "ฟาร์มแม่นยำ" สามารถช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากการมีผลผลิตเพิ่ม Productivity ดี ต้นทุนลดลงราว 20% ซึ่งในอนาคต "เอิร์น" บอกว่าจะสามารถเพิ่มรายได้และลดต้นทุนได้มากกว่านี้ เพราะทีมของเขายังมีการพัฒนาฟีเจอร์ให้มากขึ้นและแม่นยำมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เขาต้องการเพิ่ม คือ การพยากรณ์อากาศที่แม่นขึ้นมากกว่า 70-80% ที่ทำได้ในขณะนี้ และขยายเวลาในการพยากรณ์จาก 7 วัน เป็นแบบหลาย ๆ เดือน เพื่อช่วยการคาดการณ์สำหรับการวางแผนของเกษตรกร เป็นการลงลึกข้อมูลให้มากขึ้น เช่น พืชชนิดไหนควรปลูกช่วงเวลาไหน

เป้าหมายของ "เอิร์น" และเพื่อน ๆ ต้องการขยายการใช้งานให้มากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันประมาณแสนราย ขยายไปเป็นล้านราย และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงขยายไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ไปทดลองแล้วที่ปากีสถาน ผลงานของเขาได้รับการสนับสนุนทุนจาก บิล เกตส์ มาแล้ว รวมทั้งนักลงทุนรายอื่น ๆ ด้วย

"ตอนนี้เราจะทำแบบสตาร์ตอัพไม่ได้แล้ว เพราะมีทั้งสำนึกรักบ้านเกิดและดีแทค รวมทั้งนักลงทุนต่าง ๆ เข้ามาช่วยเสริม เราต้องทำอะไรให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เราจะมีสปีดที่เร็วขึ้น อินโนเวตไปเรื่อย ๆ เราไม่ได้ออกมาครั้งดียวแล้วจบ เราจะมีฟีเจอร์ มีการพัฒนาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องการช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น"

การพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการและช่วยเกษตรกรให้สร้าง Productivity ที่ดี มีความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดี คือ เป้าหมายใหญ่ของ "เอิร์น" และทีม "รีคัลท์" ที่ต้องการเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง ๆ ... เราอยากใช้เทคโนโลยีทรานส์ฟอร์เมชัน เกษตรกรให้เป็นเกษตรกรที่ประณีตมากขึ้น

"เอิร์น" ทิ้งท้ายว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สตาร์ตอัพที่มาจากสาขาวิทยาศาสตร์มีจำนวนมาก เพราะเศรษฐกิจของเขาขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ หรือ พวกฮาร์ดเทค แต่สำหรับเมืองไทย สตาร์ตอัพสาขาวิทยาศาสตร์ยังน้อยมาก ประเทศไทยควรพัฒนาสตาร์ตอัพในกลุ่มสาขานี้ให้มากขึ้น เพื่อการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามเป้าของรัฐบาล


หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,410 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561

595959859