เปิดไทม์ไลน์! "ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3" 16 ต.ค. ชง ครม. อนุมัติ 5.5 หมื่นล้าน

15 ต.ค. 2561 | 05:50 น.
13 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. จะครบรอบ 45 ปีเต็ม ในช่วงที่ผ่านมา กนอ. มีบทบาทหลักในการพัฒนา จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมโรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อให้สามารถกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมได้ทุกเรื่อง ระยะหลังบทบาท กนอ. ล้อตามนโยบายหลักของรัฐบาลมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี

"ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
ถึงความคืบหน้าใน 2 โครงการใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. อยู่ในขณะนี้ คือ การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการตั้งนิคม Smart Park หรือ นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง

 

[caption id="attachment_331957" align="aligncenter" width="335"] สมจิณณ์ พิลึก สมจิณณ์ พิลึก[/caption]

2 โครงการ เชื่อมพื้นที่ 'อีอีซี'
ผู้ว่าการ กนอ. ฉายภาพให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมเขตสวนอุตสาหกรรมมาแล้ว รวมทั่วประเทศ 55 แห่ง ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. บริหารจัดการเอง 13 แห่ง และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมระหว่าง กนอ. และภาคเอกชน จำนวน 42 แห่ง และยังมีท่าเรือมาบตาพุด เฟส 1 เฟส 2 และกำลังขยายสู่เฟส 3 โดยปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี 31 นิคม และมีที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมไปแล้ว 21 แห่ง

สำหรับทิศทางของ กนอ. นโยบายที่เร่งรัดจะเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ซึ่ง กนอ. ได้รับมอบหมายให้มาพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งเป็นเขตส่งเสริมอีอีซี จะต้องใช้เงินลงทุนรวม 55,400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ดำเนินการจัดทำ TOR ใกล้จะเรียบร้อยแล้ว ที่ผ่านมาได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือ เปิดเวทีมาร์เก็ตซาวดิ้ง มาแล้ว 3 ครั้ง เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนรัฐและเอกชน หรือ PPP ในขณะนี้อยู่ระหว่างปรับ TOR หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 มาแล้ว

ล่าสุด โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกำลังจะนำเรื่องเข้าพิจารณาคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ต.ค. นี้


เตรียมเชิญเอกชนลงทุน
หลังจากนั้น เมื่อผ่าน ครม. ก็จะประกาศเชิญชวนให้เอกชวนมายื่นข้อเสนอลงทุนดังกล่าวได้ภายในเดือน ธ.ค. ปีนี้ และภายในเดือน ม.ค. จะมีการคัดเลือกผู้ลงทุน ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุน มีทั้งทุนไทย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น หลังจากนั้นในเดือน ม.ค. 2562 จะคัดเลือกให้แล้วเสร็จ พอถึงเดือน ก.พ. 2562 ก็จะลงนามในสัญญาร่วมทุนกันได้

โดยการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่หนึ่ง เป็นการขุดลอกร่องนํ้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวม ๆ พื้นที่ราว 1,000 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นส่วนที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ ในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 200 ไร่ จะทำท่าเรือก๊าซ และอีก 200 ไร่ จะทำท่าเรือสินค้าเหลว และอีก 150 ไร่ จะเป็นคลังสินค้า ส่วนอีก 450 ไร่ จะใช้เก็บกากตะกอนที่ใช้ประโยชน์ หรือ ใช้ถมทะเลไม่ได้ ต้องเก็บไว้เพื่อป้องกันเรื่องผลกระทบตามอีไอเอ ฉะนั้นในช่วงที่หนึ่งนี้ เรากำลังเริ่มหาผู้ลงทุน โดยมาทำเรื่องขุดลอกและทำท่าเรือก๊าซ

"ใน 3 ปีแรก จะขุดลอก ทำในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไว้ก่อน อีก 2 ปี ก็ทำท่าเรือก๊าซ ภายใน 5 ปี นับจากวันที่เซ็นสัญญา ก็จะเรียบร้อย และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 โดยเอกชนจะได้รับสัมปทานบริการจัดการท่าเรือมาบตาพุด 30 ปี"


tp12-3252-b

ส่วนช่วงที่ 2 จะทำท่าเรือสินค้าเหลว ในพื้นที่ 150 ไร่ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี และให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานบริหารจัดการ 30 ปี โดย 2 ส่วนนี้ จะคนละ TOR กัน ซึ่งระหว่างนี้ยังทำ TOR ช่วงแรกอยู่


คลอดนิคมเชิงนิเวศ
สำหรับความคืบหน้าโครงการนิคม Smart Park หรือ นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ขนาดพื้นที่ 1,500 ไร่ ลงทุน 2,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จ.ระยอง จากเดิมมี 5 นิคม คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, อาร์ไอแอล, เหมราชตะวันออก, ผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย และเตรียมจัดตั้งนิคม Smart Park เป็นแห่งที่ 6 โดยพื้นที่ทั้งหมดจะมีระบบโลจิสติกส์ เช่น ท่าเรือมาบตาพุด โดยโครงการนิคม Smart Park ขณะนี้อยู่ระหว่างทำอีไอเอ จะเป็นนิคมต้นแบบที่จะพัฒนาให้เป็นนิคมที่ทันสมัย ทั้งด้านเทคโนโลยี ระบบขนส่ง ทั้งท่าเรือ สนามบินเชื่อม เป็นนิคมที่มีนวัตกรรมเชิงนิเวศแห่งแรกของ กนอ. ที่จะยกระดับเป็นนิคมที่ใช้นวัตกรรม เน้นการดึงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น หุ่นยนต์ อากาศยาน อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิตอล เป็นต้น หากประสบผลสำเร็จจะเกิดการจ้างงาน 1,500 คน และจะทำให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 0.033%

ความคืบหน้าโครงการ Smart Park ก่อนหน้านี้มีการเซ็นสัญญา MOU ไปแล้วทั้งหมด 6 ฉบับ กับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ EEC, BIG, PTTPL, BCPG, Gusco และ BTS เมื่อเดือน ก.พ. 2561 โดยความคืบหน้าในปัจจุบันของโครงการนี้ ประกอบด้วย โครงการ Detail Design ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2561 และมีผู้สนใจลงทุนแสดงเจตจำนงแล้วส่วนหนึ่ง เช่น BIG, PTTPL, BCPG

"โครงการนี้หลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2563 จะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี และจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2565"

ทั้งหมดนี้จะเป็นงานที่ กนอ. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการล้อไปตามแผนพัฒนาพื้นที่อีอีซี ที่จะเป็นพื้นที่ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้ เพราะอยู่ในทำเลเหมาะสม เป็นจุดศูนย์กลางของโลก โดยรัฐบาลหนุนระบบ
โลจิสติกส์เชื่อมโยงทุกทาง ไม่ว่าจะเป็น ถนน ท่าเรือ สนามบิน รถราง จะเกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป


สัมภาษณ์พิเศษ 
โดย : งามตา สืบเชื้อวงค์

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,409 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561

595959859