"สะพานภูมิพล" เชื่อมการพัฒนาจากฐานราก โยงระบบคมนาคม 2 ฝั่งน้ำ อย่างยั่งยืน

21 ต.ค. 2561 | 03:36 น.
ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน …

ย้อนกลับไปราว 47 ปีก่อน พระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อตอบจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้น) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโฉมการคมนาคมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เชื่อมโยงเป็นเส้นทางโครงข่ายที่สมบูรณ์ตราบจนถึงปัจจุบัน


8690569142430

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และสารานุกรมเสรี ระบุว่า "โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเป็นแนวพระราชดำริที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนส่งและลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพ ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรม ใน จ.สมุทรปราการ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม""

สะพานของพ่อ สะพานภูมิพล หรือ สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม เกิดจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามฟากระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งพระประแดงในปี 2546 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนเรื่องปัญหาการจราจร ในการสร้างสะพานภูมิพลนี้พระองค์ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ทรงมีพระราชดำริในการจัดสรรงบประมาณอย่างพอเพียง โดยเลือกรูปแบบทางวิศวกรรมโครงสร้างแบบสะพานขึงแทนแบบอุโมงค์ลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ที่สำคัญ สะพานขึงยังสามารถรองรับปริมาณการจราจรจำนวนมาก อีกทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในระหว่างการก่อสร้างมากนัก มีความแข็งแรง มั่นคง

สะพานภูมิพลได้วิศวกรผู้ออกแบบชาวสวีเดน ชื่อ มร.พอลเล กุสตาฟลันส์ มาเป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง สะพานของพ่อมีรูปทรงคล้ายกับหัวแหวนเชื่อมกันระหว่างสะพานภูมิพล 2 ช่วง คือ สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ส่วนของโครงสร้างมีเสาขึงสะพาน 4 ต้น ออกแบบในทรงเหลี่ยมเพชร โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนบธรรมเนียมที่ดีงาม อย่าง การ "พนมมือไหว้" บริเวณขาทั้ง 2 ข้างของสะพาน ที่มาบรรจบกันนั้น เป็นตำแหน่งที่ประดับตราสัญลักษณ์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสำหรับส่วนปลายยอดแหลมของเสาสะพานขึงตกแต่งด้วยสีทองอร่าม เมื่อดวงตาสัมผัสเปรียบได้กับยอดเจดีย์ หรือ ยอดชฎา อันมีค่าสูงสุด

ด้านสายเคเบิลตกแต่งด้วยโทนสีทองที่เรียงร้อยเพื่อพยุงสะพานให้ลอยเด่นอยู่เหนือแม่นํ้า สำหรับเชิงสะพานช่วงข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาทั้ง 2 ฟากฝั่ง มีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมอันสะท้อนถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้แก่ "เหนือเกล้า" ตั้งตระหง่านอยู่บนสะพานด้านทิศใต้ เป็นประติมากรรมรูปทรงหยดนํ้าสีทอง ที่ส่วนบนมีรูปอุณาโลมอันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งโอบล้อมด้วยยอดแหลม สื่อความหมายถึงพสกนิกรของพระองค์ สำหรับ "พระบริบาล" ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นที่ตั้งของประติมากรรมยอดสูง ด้านบนเป็นอุณาโลม หมายถึง หยาดนํ้าพระราชหฤทัยของพระองค์ สอดรับกับใบเสมาใต้อุณาโลมแทนขอบขัณฑสีมาประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานดอกบัว โดยสื่อถึงนํ้าพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หลั่งไหลชโลมสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ผาสุก


8690569094914

"สะพานภูมิพล" เป็นสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาสำหรับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมระหว่างถนนพระราม 3 ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนกาญจนาภิเษก มีลักษณะเป็นสะพานขึงขนาด 7 ช่องการจราจร ทางด้านเหนือ หรือ "สะพานภูมิพล 1" เชื่อมระหว่างแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร กับ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ทางด้านใต้ หรือ "สะพานภูมิพล 2" เชื่อมระหว่าง ต.ทรงคนอง กับ ต.บางหญ้าแพรก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2549 ถือเป็นหนึ่งโครงการที่ "ลัดทาง" เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในมิติขนส่งคมนาคม รวมทั้งลดปัญหาการจราจรแออัดภายในตัวเมืองได้อย่างคล่องตัว

อย่างไรก็ดี สะพานของพ่อแห่งนี้ นับเป็นสะพานขึงที่สร้างเร็วที่สุดในโลก ซึ่งการก่อสร้างในส่วนของการเชื่อมสะพานใช้วิธีก่อสร้างทั้ง 2 ฝั่ง มาบรรจบกันตรงกลาง โดยทีมแขวนสะพานใช้เวลาในการเชื่อมสะพานเพียง 4 เดือน การเชื่อมใช้คอนกรีตหนักอัดแรงหนักชิ้นละ 480 ตัน มาเชื่อมกัน โดยใช้เครนคู่ขนาดยักษ์ในการดึงคอนกรีตขึ้นจากเรือขนส่งด้านล่าง สำหรับการยกเครนใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเปิดทางให้การจราจรทางนํ้าและการใช้ชีวิตของประชาชนสะดวกสบายสู่สภาวะปกติ

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษา จึงได้มีพระราชดำริจัดตั้งเพิ่มเติมว่า ควรปรับปรุงพื้นที่บริเวณโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมให้เป็น "พิพิธภัณฑ์สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม" เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ความเป็นมาของโครงการ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวมอญ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพระประแดง อันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการ พระองค์ทรงเน้นยํ้าว่า ควรทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย เพื่อที่จะได้นำงบประมาณเหล่านี้มาซ่อมบำรุงถนนและสะพานสายนี้ต่อไปในอนาคต

ภูมิสถาปัตย์สะพานขึงอันงดงามทั้ง 2 หลังนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งและสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน ถือเป็น "อารยสถาปัตย์" คู่กรุงรัตนโกสินทร์อีกแห่งหนึ่ง ที่มีความโอ่อ่า สง่างาม สมศักดิ์ศรีในนาม "สะพานภูมิพล 1" และ "สะพานภูมิพล 2"


หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,409 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว