‘ภูษามาลาประคองพระโกศ’

18 ต.ค. 2561 | 10:29 น.
 

DSCF9415

นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยใจรักและภักดี

“... ขอเป็นตัวแทนสองมือคนไทยทั้ง 68 ล้านคู่ ประคองพระบรมโกศ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แทนหัวใจคนไทยทุกดวงอย่างดีที่สุด”

ถ้อยคำของ ศ.ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยกล่าวไว้ในเดือนตุลาคมปีก่อน ห้วงเวลาแห่งพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งในชั่วชีวิตหนึ่งของคนไทย กับการร่วมริ้วขบวนในฐานะ “ภูษามาลาประคองพระโกศและพระบรมราชสรีรางคาร” ร่วมกับ ศ.คลินิก นายแพทย์ประดิษฐ์
ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อทำหน้าที่นายแพทย์ผู้ถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นครั้งสุดท้ายนับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่แพทย์ซึ่งเป็นเพียงสามัญชนได้ถวายงานอันเป็นเกียรติยศและมหามงคลสูงสุดในชีวิต

ภาพที่เห็นจนชินตาในการเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ของ   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ระหว่างประทับเพื่อรักษาพระวรกาย ณ โรงพยาบาลศิริราช คือนายแพทย์ทั้งสองท่านทำหน้าที่เป็นผู้ถวายงานเข็นพระเก้าอี้เลื่อนอยู่เสมอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนการย้อนนำภาพบรรยากาศที่แสงสว่างอันเรืองรองของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แวดล้อมไปด้วยพสกนิกรชาวไทยที่มารอเฝ้าฯ อย่างหนาแน่น พร้อมส่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินกลับมาอีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน โรงพยาบาลศิริราช จึงจำลองฉากและตอนเหล่านั้นรวบรวมเป็นความทรงจำที่ปิติและงดงามผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ในมุมต่างๆ อย่างน่าประทับใจ เชื่อมโยงกับการถ่ายทอดเรื่องราวของการเป็นตัวแทนของคนไทยทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ตัวแทนของคนไทยทั้งแผ่นดินของนายแพทย์ผู้ทรงเกียรติทั้ง 2 ท่านในนิทรรศการที่ชื่อว่า “ภูษามาลาประคองพระโกศ” เผยแพร่ความรู้ทางด้านโบราณราชประเพณี  ตลอดจนการเตรียม ร่างกายและจิตใจเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีอันทรงเกียรติโดยละเอียด

“การปฏิบัติหน้าที่ภูษามาลาประคองพระโกศจะต้องอยู่ในท่าเทพบุตรคือ นั่งคุกเข่า หลังตรง มือประคองพระโกศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง ต้องอาศัยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลายส่วน ได้แก่  กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อรอบลำตัว กล้ามเนื้อต้นขา ที่สำคัญต้องมีการเตรียมพร้อมทางด้านร่างกายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฝึกฝนท่าคุกเข่าให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน

A

เหนือสิ่งอื่นใดคือ จิตใจที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดี ความเคารพเทิดทูน แปรเปลี่ยนเป็นแรงกายที่พร้อมทุ่มเท
เพื่อถวายงานครั้งสุดท้าย อันเป็นเกียรติสูงสุดนี้ให้สำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวศิริราชอย่างหาที่สุดมิได้”

นิทรรศการภูษามาลาประคองพระโกศแบ่งพื้นที่การจัดแสดงเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่หนึ่งนั้นจัดแสดงชุดภูษามาลาที่ใช้ในพระราชพิธี ประกอบด้วย หมวกลอมพอกขาวมีดอกไม้ไหว เสื้อนอกขาวแบบราชการ เสื้อครุยเทวดาแถบใหญ่มีดอก ผ้าเกี้ยวลาย ถุงเท้ายาวสีขาว และรองเท้าหนังสีดำ และวิดีทัศน์การเสวนาในพิธีรับมอบชุดภูษามาลา ซึ่งท่านทั้งสองได้ให้เกียรติมาเล่าประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าในการได้ถวายงานครั้งสุดท้ายอันเป็นเกียรติสูงสุดนี้ ส่วนที่สองนั้นทางหน่วยพิพิธภัณฑ์ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราช ดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 มาจัดแสดงทั้งหมด 5 จุดได้แก่ ห้องศิริสารประพาส ห้องสถานพิมุขมงคลเขต บริเวณแผนที่กรุงธนบุรี-บางกอก ห้องโบราณราชศัสตราและห้องคมนาคมบรรหารที่ฉายภาพยนตร์พิเศษ ตอน “ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์” ซึ่งผู้เยี่ยมชมจะมีโอกาสซึมซับเรื่องราวการทรงงานตลอดพระชนมชีพของ “มหาราชา ผู้เป็นนิรันดร์” ผู้ทรงเป็น “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” ตลอดกาลอีกครั้ง

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม “นิทรรศการภูษามาลาประคองพระโกศ” ได้ตั้งแต่วันที่ 10 - 31 ตุลาคม 2561 (เว้นวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ โถงต้อนรับพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน สำหรับ
วันที่ 13 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมโทร 02-419-2601-2, 2618-9 ร่วมชมนิทรรศการและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเพื่อนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้ในการพัฒนาตัวเอง สังคมและประเทศชาติต่อไป

ขอปิดท้ายรายงานพิเศษด้วยคำกล่าว ตอนหนึ่งของ ศ.คลินิก นายแพทย์ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ที่ว่า คงเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตที่จะจดจำไปตลอด ที่ได้ถวายงานเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

มีท่านผู้หนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าพิพิธภัณฑ์จะมีคุณค่าและคงอยู่ต่อไปในฐานะจุดรวมองค์ความรู้และสรรพสิ่ง มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ส่วนคือ 1. ผู้ที่ใส่ใจ เข้าใจ และรักในทุกๆ เรื่องราวที่ประกอบสร้างในนิทรรศการ 2. ผู้สนับสนุนที่เข้าใจในแก่นแท้คุณค่าของงาน และ 3. ผู้เข้าชม ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ตนเองได้รับรู้คุณค่า เรียนรู้ และต่อยอดสิ่งที่เล่าผ่านงานจัดแสดงให้เกิดประโยชน์รอบตัวสูงสุด ร่วมเติมพลังให้กับนิทรรศการด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเรา แล้วพบกันที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน โรงพยาบาลศิริราช นะคะ

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,409 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561

595959859