ธอส. เสนอ ธปท. คุมสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 ราคา 3 ล้านบาทอัพ

11 ต.ค. 2561 | 09:49 น.
ธอส. วอน ธปท. ปรับเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน หวั่นกระทบผู้มีรายได้น้อย เสนอคุมเฉพาะบ้านหลังที่ 2 ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เผยภายหลังเข้ารับฟังความเห็น (Public Hearing) เกณฑ์ใหม่ในการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่มีความจำเป็นต้องมีบ้านหลัง 2 อาจจะทำให้หันไปใช้เงินกู้นอกระบบเพื่อมาปิดบ้านหลังแรก ทำให้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

หลักเกณฑ์ใหม่จะกระทบกับลูกค้าของ ธอส. ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจริง ไม่ใช่เก็งกำไร หรือ ขายต่อ โดยหลักเกณฑ์ใหม่ใช้สำหรับลูกค้าที่ต้องการกู้บ้านหลังที่ 2 แต่ยังผ่อนหลังแรกไม่หมด ซึ่งปัจจุบัน ธอส. มีลูกค้าในลักษณะนี้มาก เช่น มีบ้านอยู่ไกล แต่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในเมืองใกล้ที่ทำงาน หากนำเกณฑ์ไปปฏิบัติก็จะกระทบกับลูกค้าของ ธอส. ซึ่งปัจจุบันมีการให้สินเชื่อบ้านหลังที่ 2 เป็นจำนวนมาก


Property

ดังนั้น จึงอยากเสนอให้ ธปท. พิจารณาปรับหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม โดยให้ผ่อนปรนเกณฑ์วางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน (LTV จำกัดที่ 80%) ให้คุมเฉพาะบ้านหลังที่ 2 ที่มีราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งเสนอให้เลื่อนเวลาบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวจากที่กำหนดเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2562 ออกไปก่อน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัว

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ธอส. จะขอความเห็นจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเกณฑ์ดังกล่าวของ ธปท. หากกระทรวงการคลังให้นโยบายดำเนินการอย่างไรก็จะปฏิบัติตาม เบื้องต้น จะหารือผ่านผู้แทนกระทรวงการคลังในการประชุมคณะกรรมการ ธอส. ในวันที่ 29 ต.ค. นี้ด้วย


090861-1927-9-335x503-8-335x503

ด้าน แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เผยว่า การรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งได้มีการเสนอความเห็นต่อ ธปท. ใน 6 เรื่อง คือ

1.ให้วางเงื่อนไขผ่อนปรนช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับเกณฑ์การนับบ้านหลัง 2 ซึ่งปัจจุบันมองว่า บ้านหลังที่ 2 มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิต หรือ อาจปรับไปใช้เกณฑ์สำหรับบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป หรือ กรณีลูกค้าทำสัญญาซื้อก่อนออกประกาศ แต่บ้านสร้างเสร็จพร้อมโอนหลัง ม.ค. 2562 จะต้องบังคับใช้เกณฑ์ย้อนหลังหรือไม่ และเสนอให้ ธปท. มีการชะลอการเริ่มใช้เกณฑ์ดังกล่าวออกไป เพื่อให้ธนาคารปรับตัว

2.ในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมจะนับจำนวนสัญญาอย่างไร

3.แนวทางการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ตามเกณฑ์ใหม่

4.เงื่อนไขรายละเอียดของราคากรณีรีไฟแนนซ์ จะมีการปรับวงเงิน หรือ ปรับเกณฑ์วางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกันหรือไม่

5.ขอให้ยกเว้นการนับมูลค่าหลักประกัน กรณีซื้อประกันชีวิต

6. กรณีนำบ้านไปขอสินเชื่อ SME ต่อจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว