ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่ และการก่อสร้างอาคาร City Garden (2)

11 ต.ค. 2561 | 07:40 น.
ข้อเท็จจริง ตามรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการจัดสรรพื้นที่การก่อสร้างและใช้ประโยชน์อาคาร City Garden ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นอาคารเดี่ยวสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 12x125 เมตร บริเวณใกล้กับอาคารผู้โดยสาร โดยมีสะพานเชื่อมต่อ Concourse D และ A ทะลุถึงกันได้ ลักษณะเป็นอาคารถาวรขนาดใหญ่ และเป็นอาคารที่ไม่มีกำหนดไว้ในแบบและแผนงานการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาก่อน เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างและใช้ประโยชน์ โดยไม่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามระเบียบ ข้อบังคับ จึงอยู่ในข่ายต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่ 1 เมื่อได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่ง จึงได้ประชุมและทำการตรวจสอบเอกสารและข้อเท็จจริงจากพนักงาน ทอท.เกี่ยวกับที่มาของการก่อสร้างอาคารดังกล่าว ว่าได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยได้ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวรวม 7 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8-31 มกราคม 2551 และได้เชิญผู้เป็นพนักงาน ทอท.ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจนได้ข้อยุติ จึงได้สรุปความเห็นในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว เรียนเสนอต่อประธานกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 โดยมีรายละเอียดและสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
090861-1927-9-335x503-8-335x503-9 เพิ่มเพื่อน

1. ที่มาของการก่อสร้างอาคาร City Garden มีข้อเท็จจริงโดยลำดับดังนี้

1.1 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2548 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.)ได้อนุญาตให้บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการในโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามสัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบหมายเลข 1)

1.2 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548 บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) แจ้งความประสงค์ขอจัดสร้างอาคาร City Garden ขนาด 2 ชั้น เพื่อใช้ประโยชน์ โดยพื้นที่ชั้นล่างจัดทำเป็นสำนักงานของบริษัท พื้นที่ชั้นบนจะใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม สำหรับผู้โดยสารขาออกเที่ยวบินภายในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ร้าน F&B (Food and Beverage) โดยจะจัดให้มีทางเชื่อม City Garden กับอาคารเทียบเครื่องบินบริเวณชั้น2 Concourse D และ A จึงขอให้ ทอท.พิจารณาจัดสรรพื้นที่ข้างต้น และแจ้งให้ บทม.ขอยกเลิกงานปรับพื้นที่กับทาง ITD JV (บริษัทอิตาเลียนไทย จอยต์เวนเจอร์)
5-79 หนังสือฉบับนี้ มิได้มีการสั่งการจากประธานกรรมการ ทอท.แต่ได้มีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ กทภ. เพื่อพิจารณาพร้อมกับการขอปรับเปลี่ยนและปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารอีกหลายจุด เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรและการประกอบกิจการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์(รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบหมายเลข 2)

คณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อนุกรรมการ กทภ.) ได้นำข้อเสนอดังกล่าวพร้อมกับข้อเสนอขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารหลายจุด เข้าพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 4/2548 วันที่ 19 ตุลาคม 2548 โดยมี นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานอนุกรรมการเป็นประธานที่ประชุม ซึ่งบริษัท คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัดและบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ได้ส่งนายสมบัตร เดชาพานิชกุล กรรมการของบริษัททั้งสอง เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งได้รายงานเสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับข้อเสนอของบริษัทเอกชนทั้งสองว่าต้องการพื้นที่หลายจุดอย่างไรบ้าง แต่ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึง หากสนใจคงต้องหาอ่านในรายละเอียดของรายงานได้

กล่าวเฉพาะพื้นที่ City Garden ตัวแทนบริษัทเอกชนได้เสนอไว้ตามรายงานการประชุมข้อ 2.4 ว่า บริเวณด้านหลังอาคาร Concourse D East กับอาคารที่พักผู้โดยสาร บริษัทเสนอขอรับจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้างอาคาร City Garden สูง 2 ชั้น สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ โดยอาคารนี้จะมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 1,500 ตารางเมตร (12x125 เมตร) มีสะพานเชื่อมต่อกับอาคาร Concourse D และ A ทั้งนี้การก่อสร้างอาคาร City Garden นี้จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ Lanscape ด้านข้างอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออกบางส่วน โดยอาคารดังกล่าวจะใช้งานประมาณ 5-10 ปี และหาก ทอท.มีแผน ขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร บริษัทมีความยินดีจะปรับรื้ออาคารดังกล่าวออกให้ต่อไป

20160503-151823-o2q6pd6vt6JnDsOKWed-o ซึ่งความเห็นที่ประชุมปรากฏ ว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องที่จะมีการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการภายในของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ตามที่บริษัทเสนอ แต่ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่ในจุดต่างๆว่า บริษัท จะต้องออกแบบให้สวยงามและไม่กระทบต่อการสัญจรของผู้โดยสาร (Passenger Flow) โดยให้บริษัทประสานงานในรายละเอียดกับสำนักงานโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.ต่อไป

มติที่ประชุม ก็เห็นชอบในหลักการการขอปรับเปลี่ยนและปรับปรุงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ตามที่บริษัทเสนอ โดยให้บริษัทประสานงานในรายละเอียดกับสำนักงานโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. ต่อไป

นี่คือจุดเริ่มต้นและที่มาว่าทำไมบริษัทเอกชน จึงสามารถใช้พื้นที่ของทอท.มาสร้างเป็นCity Garden อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันได้ การดำเนินการหลังจากนี้เป็นอย่างไร ผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะมีข้อสรุปอย่างไร ติดตามอ่านในตอนต่อไปครับ

- อ่าน | ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ข้อเท็จจริงเรื่องพื้นที่และการก่อสร้าง อาคาร City Garden (1)

|คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3408 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.2561
595959859