ทางออกนอกตำรา : ‘พ.ร.บ.นํ้า’ มาแล้วจ้า ชาวนาโล่ง-นายทุนไม่รอด

10 ต.ค. 2561 | 13:52 น.
พรบ-1 วันที่ 4 ตุลาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของประเทศ เมื่อลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้า พ.ศ...ในวาระ 2-3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์

ทำให้กฎหมายฉบับนี้ที่อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการของ สนช.วาระ 1 นานที่สุด 575 วัน คลอดออกมาใช้ รอเพียงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

อาถรรพ์ของกฎหมายนํ้า ที่ยกร่างมาตั้งแต่ปี 2534 เคยเข้าสภาและถูกคัดค้านจนตกไปในปี 2551 เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้

แม้ สนช.หลายคนแสดงความเป็นห่วงเนื้อหาที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน อาทิ มาตรา 57 การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บนํ้าไว้ ต้องเฉลี่ย นํ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกฯ ประกาศกำหนด
save ตลอดถึง มาตรา 77 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในที่ดินบุคคลใด เพื่อตรวจตรา สำรวจ ตรวจค้น ยึดหรืออายัดเอกสารหรือ สิ่งใดที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่ากระทำผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ในที่สุดก็ผ่านสภาออกมาด้วยคะแนน 191 ต่อ 2 งด 6 และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ผมเกาะติดกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าไทยควรมีการจัดการนํ้าอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่นํ้ามาปลากินมด นํ้าลด มดกินปลา สุดท้ายเจอแล้วแห้งขอด โดยไม่มีการจัดการ ที่สำคัญกว่านั้นคนใช้นํ้าควรมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมของฟ้าฝน

กฎหมายฉบับนี้เดิมมีการปล่อยออกมาว่าจะเก็บเงินจากการใช้นํ้าจากเกษตรกร ชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน หรือราว 30-40 ล้านคน จนตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีการเก็บ แต่จะเก็บเงินจากการใช้นํ้าเฉพาะกรณีของภาคอุตสาห- กรรมหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้นํ้าในปริมาณมากเท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปกำหนดความชัดเจนในเรื่องการจัดเก็บค่าใช้นํ้าต่อไป ผมจึงอยากพาคนไทยไปเรียนรู้กับกฎหมายฉบับนี้กัน
090861-1927-9-335x503-8-335x503 เพิ่มเพื่อน

หลักการของกฎหมายฉบับนี้คือ ทำให้ประชาชนผู้ใช้นํ้าทั่วไปสามารถทรงสิทธิ เป็นที่ประกันได้ว่าจะได้รับการจัดสรรนํ้าจากรัฐบาล โดยไม่ต้องจ่ายค่านํ้า ไม่ต้องมีการร้องขอ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้นํ้าแก่ทุกฝ่าย

สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า จะอยู่ที่คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กนช.”  และในหมวดที่ 3 ว่าด้วยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า....สำคัญอย่างไรไปดูกัน...

กนช.จะมีองค์ประกอบคือ (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (2) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ (3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.พลังงาน รมว.มหาดไทย รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผอ.สำนักงบประมาณ

(4) กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มนํ้า จำนวน 6 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกรรมการลุ่มนํ้าผู้แทนองค์กรผู้ใช้นํ้า 2 คน กรรมการลุ่มนํ้าผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการลุ่มนํ้าผู้ทรงคุณวุฒิ (5) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ในด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรนํ้า ด้านผังเมือง ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการของกรมทรัพยากรนํ้าอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ต่อมาให้มีคณะกรรมการลุ่มนํ้าประจำลุ่มนํ้านั้น ประกอบด้วย (1) กรรมการลุ่มนํ้าโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มนํ้านั้น ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนกรมชลประทานผู้แทนกรมทรัพยากรนํ้า ผู้แทนกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมประมง ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดินผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

กรณีที่ลุ่มนํ้าใดมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดน ให้มีผู้แทนกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มนํ้า หรือในกรณีที่ลุ่มนํ้าใดมีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล ให้มีผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มนํ้า หรือในกรณีที่ลุ่มนํ้าใดอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ให้มีผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมเป็นกรรมการลุ่มนํ้าด้วย

(2) กรรมการลุ่มนํ้าผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มนํ้านั้น จังหวัดละ 1 คน และในกรณีที่ลุ่มนํ้าใดอยู่ในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นกรรมการลุ่มนํ้าด้วย

(3) กรรมการลุ่มนํ้าผู้แทนองค์กรผู้ใช้นํ้าในเขตลุ่มนํ้านั้นที่มาจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ภาคละ 3 คน (4) กรรมการลุ่มนํ้าผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรนํ้า จำนวน 4 คน

มาถึงการจัดสรรนํ้าและการใช้นํ้า ในมาตรา 39 การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) การใช้นํ้าประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้นํ้าในปริมาณเล็กน้อย

(2) การใช้นํ้าประเภทที่ 2  ได้แก่ การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น (3) การใช้นํ้าประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้นํ้าปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มนํ้า หรือครอบ คลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ลักษณะหรือรายละเอียดการใช้นํ้าแต่ละประเภทตาม (1) (2) และ (3) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่นายกรัฐมนตรีออกโดยความเห็นชอบของ กนช.

มาตรา 40/1 การใช้นํ้าประเภทที่ 1 ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้นํ้าและไม่ต้องชำระค่าใช้นํ้า

มาตรา 41 การใช้นํ้าประเภทที่ 2 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า หรืออธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มนํ้าที่ทรัพยากรนํ้าสาธารณะนั้นตั้งอยู่

มาตรา 42 การใช้นํ้าประเภทที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า หรืออธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ กนช.โอนใบอนุญาต และการอนุญาต รวมทั้งการขอและการออกใบแทนใบอนุญาตการใช้นํ้าประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มาตรา 46 รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้นํ้าประเภทที่ 2 และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้นํ้าประเภทที่ 3

มาตรา 47 รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด

(1) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้นํ้าสำหรับการใช้นํ้าประเภทที่ 2 และการใช้นํ้าประเภทที่ 3
(2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้นํ้า ทั้งนี้จะกำหนดให้แตกต่างกันโดยคำนึงถึงกิจกรรม ลักษณะ หรือปริมาณของการใช้นํ้าในแต่ละประเภทและในแต่ละลุ่มนํ้าก็ได้

มาตรา 47/1 รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้นํ้าประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่ไม่ใช่นํ้าจากทางนํ้าชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และไม่ใช่นํ้าบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยนํ้าบาดาล และให้อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าเรียกเก็บค่าใช้นํ้าดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 47

มาตรา 51 ในกรณีที่การใช้นํ้าตามใบอนุญาตเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบ ต่อความสมดุลของทรัพยากรนํ้าสาธารณะในลุ่มนํ้าที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญ ต่อประโยชน์สาธารณะ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งโดยรมว.เกษตรและสหกรณ์ หรือรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วแต่กรณี มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้นํ้าหยุดการใช้นํ้าตามใบอนุญาตไว้เป็นการชั่วคราว และให้ผู้รับใบอนุญาตการใช้นํ้าดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อแก้ไขหรือระงับเหตุแห่งผลกระทบดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

ถามว่าถ้านํ้าแล้งจะแก้อย่างไร มาตรา 57 ในกรณีที่เกิดภาวะนํ้าแล้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บนํ้าไว้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด

ในกรณีนี้จะมีบทเฉพาะกาลไว้ว่า

มาตรา 101 ในระหว่างที่หมวด 4 การจัดสรรนํ้าและการใช้นํ้ายังไม่ใช้บังคับ หรือใช้บังคับแล้วแต่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามความในหมวด 4 แห่งพระราชบัญญัตินี้ การขออนุญาตและการอนุญาตใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะที่เป็นทางนํ้าชลประทานตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทาน และการขออนุญาตและการอนุญาตใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะที่เป็นนํ้าบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยนํ้าบาดาล อัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการอนุญาต อัตราค่าใช้นํ้า การเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้นํ้าจากทรัพยากรนํ้าสาธารณะดังกล่าว

รวมทั้งการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหรือกฎหมายว่าด้วยนํ้าบาดาล แล้วแต่กรณีไปพลางก่อน จนกว่าหมวด 4 จะใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในหมวด 4 ใช้บังคับ

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย...บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3408 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.2561
595959859