สวทน.จับมือบีโอไอ ลุยญี่ปุ่นแจงปมภาษีคาใจ หวังดึงดูดการลงทุนเพิ่ม

10 ต.ค. 2561 | 11:57 น.
 

สวทน.จับมือบีโอไอ  และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย จัดสัมมนา”โอกาสการลงทุนในไทย” พร้อมเผยแพร่โครงการด้านการพัฒนากำลังคนที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทย และสนับสนุนนักลงทุนรายเดิมที่มีการลงทุนในประเทศไทยเกิดความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เดินทางเยือนจังหวัดฟุกุโอกะ และโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้รับเชิญจากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ในการเยือนสำนักงานใหญ่ของธนาคาร เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร และนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 250 คน 35441

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และสนับสนุนนักลงทุนรายเดิมที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ผ่านการเผยแพร่โครงการการพัฒนากำลังคนที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน อย่างโครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) ในรูปแบบ “โรงเรียนในโรงงาน” และ โครงการนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Research Development and Industrialization)

จากการพบปะกับนักลงทุนญี่ปุ่นครั้งนี้ทำให้ทราบว่า บริษัทที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องอัตราภาษี ซึ่งในเรื่องนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ในการเข้ามาลงทุน รวมถึงชี้แจงเรื่องอัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ

ส่วน สวทน. ได้เข้าไปให้ความรู้และอธิบายรายละเอียดของโครงการด้านการพัฒนาและจัดหากำลังคน ซึ่งรวมถึงแรงงานคนในทุกระดับ ตั้งแต่ขั้นปฏิบัติการ วิศวกร จนถึงนักค้นคว้าวิจัย โดยผ่านเครือข่ายของ สวทน. ที่ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย และโรงเรียนอาชีวะทั่วประเทศ รวมถึงได้แนะนำผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้แก่นักลงทุน เพื่อดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ SME ของญี่ปุ่น 35435

นายกิติพงค์ กล่าว นอกจากการพบปะนักลงทุนญี่ปุ่นแล้ว สวทน. และบีโอไอ ยังมีโอกาสได้เยี่ยมชมศูนย์หุ่นยนต์ที่เมืองซาฮามิฮาร่า ซึ่งจัดสร้างขึ้นจากส่งเสริมของภาครัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดคานางาว่า และยังได้พบปะกลุ่มบริษัทเอกชนผู้ผลิตหุ่นยนต์จำนวน 5 บริษัท โดยในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านอุตสาหกรรมไฮเทคแบบ one on one กับกลุ่มผู้ผลิตฯ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

ทั้งนี้ เมืองซาฮามิฮาร่านั้นได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สนับสนุนกิจกรรมภายในประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง ทาง สวทน. และบีโอไอ จึงคาดหวังที่จะใช้ตัวอย่างจากเมืองซาฮามิฮาร่า เป็นเมืองต้นแบบเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยด้วย

e-book-1-503x62-7