"ดอน"ระทึกศาลรธน.นัด17ต.ค.ปมภรรยาถือหุ้นเกิน5%

10 ต.ค. 2561 | 10:47 น.
ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาพยานบุคคลและเรียกให้ถ้อยคำจำนวน 3 คน เมื่อ 25 ก.ย. 2561 ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาการตำแหน่งของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่ และต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ หลังพบกรณีที่นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยาของนายดอน ถือหุ้นในบริษัทเอกชนเกินร้อยละ 5 โดยไม่แจ้งกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ยังติดใจประเด็นการประชุมโอนหุ้น ที่พยานผู้ถูกร้องยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ชัดเจน จึงร้องขอเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงปี 2560 มาแสดงต่อศาลโดยเร็วเพื่อประกอบการพิจารณา และนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง วันที่ 17 ตุลาคม เวลา 13.30 น.

589204965
ในการพิจารณาคดีครั้งก่อน ศาลรัฐธรรมนูญเรียกพยานบุคคลให้ถ้อยคำ 3 คน มี นายมนัส สุขสวัสดิ์ ประธานกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ กกต. , นายภัฎฎการก์ บุญนาค กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด และ นายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด ขณะที่ผู้ร้องจากฝ่าย กกต.และผู้ถูกร้อง คือ นายดอน และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ทนายความส่วนตัวนายดอน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาด้วย
ฝ่ายกกต.ให้ถ้อยคำยืนยันว่า จากการตรวจสอบเอกสารที่ได้จาก บริษัทปานะวงศ์ จำกัด และ บริษัทปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้แล้วถึง 4 เดือน ยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการผู้ถือหุ้น ซึ่งนางนารีรัตน์ยังคงถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำนวน 7,200 หุ้นหรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นไม่มีเอกสารหรือพยานที่ตรวจสอบพบข้อเท็จจริงก่อนหน้าเวลาดังกล่าว ว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือโอนหุ้นจากนางนรีรัตน์ ไปยังบุตรชาย ขณะที่เอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นช่วงเดือนตุลาคม 2560 หรือ 6 เดือนหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้
"จึงไม่น่าเชื่อว่ามีการโอนหุ้นเกิดขึ้นจริง เพราะทั้ง 2 เป็นบริษัทภายในครอบครัว ขณะเดียวกันไม่พบเอกสารนำส่งใบแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่ส่งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ได้ส่งหนังสือเพื่อสอบถามไปยัง 2 บริษัท ถึงการทำกิจการและการถือครองหุ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น โดยทั้ง 2 บริษัท แจ้งตอบมาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ " นายมนัส ระบุต่อศาล

ขณะที่นายเสรี ฐานะทนายความผู้ถูกร้อง เบิกความเพิ่มเติมจากการชี้แจงเป็นเอกสารของนายดอน ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นนั้น นางนรีรัตน์ได้แสดงเจตนาโอนหุ้นไปยังนายเพื่อน บุตรชาย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 จากนั้นบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ได้นำเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแจ้งให้ทราบ วันที่ 27 เมษายน 2560 การแสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงหุ้นนั้นถือว่ามีผลทันที ขณะที่ขั้นตอนที่ไปแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นขั้นตอนทางธุรการที่ใช้เวลาและขั้นตอนดำเนินการ

"หนังสือที่ส่งไปสอบถามกับ 2 บริษัท ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นการถามแบบคลุมๆ ไม่ชัดเจน และการได้รับคำตอบจากบริษัทจากคำถามดังกล่าว ซึ่งกลายเป็นบทสรุปของคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่เชื่อว่ามีการทำเอกสารขึ้นภายหลัง เป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาด และเป็นความเห็นส่วนตัวที่ทำเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ขั้นตอนการไต่สวนแล้วเสร็จ" นายเสรี ระบุต่อศาล
ส่วนการให้ถ้อยคำของนายภัฎฎการก์และนายตรีวัฒน์ นั้น ให้ข้อมูลต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและการประชุมสามัญรวมถึงวิสามัญของผู้ถือหุ้นภายในบริษัทโดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นนั้นบริษัทได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบและรับรองซึ่งเป็นการประชุมภายในบริษัท ที่ทำเป็นขั้นตอนปกติ เนื่องจากการโอนหุ้นนั้นไม่ใช่เป็นการโอนให้กับบุคคลภายนอก ขณะที่การแจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้นเป็นขั้นตอนที่สำนักงานบัญชีจะเป็นผู้ดำเนินการแจ้ง ทั้งนี้บริษัทไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด เพราะการทำงานของสำนักงานบัญชีขณะนั้นมีงานต้องรับผิดชอบจำนวนมาก เพราะรับจ้างทำบัญชีให้กับหลายบริษัท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามในรายละเอียดของการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งประชุมสามัญ และวิสามัญ ช่วงปี 2557 - 2559 เพราะจากเอกสารพบว่ามีการเรียกประชุมเพียง 5 ครั้งและในปีล่าสุด 2560 นั้นยังไม่ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น แต่ทางพยานของ 2 บริษัทนั้นไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ชัดเจน ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงร้องขอเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้นตามช่วงดังกล่าวให้ศาลประกอบการพิจารณาโดยเร็วดังกล่าว และนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง
กรณีที่รัฐธรรมนูญห้ามภรรยาของรัฐมนตรีถือหุ้นเกินร้อยละ 5 หากถือเกินต้องแจ้งกับ ป.ป.ช. นั้นไม่ได้บัญญัติให้เป็นลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีชุดที่เข้ามาก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ

e-book-1-503x62-7