ดอกเบี้ยเฟด น้ำมัน ค่าเงินในภูมิภาค 3 แรงส่ง กดดันบาทอ่อน

10 ต.ค. 2561 | 08:41 น.
ดอกเบี้ยเฟด น้ำมัน ค่าเงินในภูมิภาค ... 3 แรงส่ง กดดันบาทอ่อน ช่วงปลายปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เริ่มมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ “แกว่งตัว” ชัดเจนขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นวันที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยประมาณ 4.63 และ3.26 พันล้านบาท ตามลำดับ) หรือคิดเป็นอัตราการอ่อนค่าถึง 2.6% เพียงไม่กี่วันจากระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นเดือนต.ค. 2561 ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) ของไทยระยะ 10 ปี (บอนด์ยิลด์) ขยับขึ้นต่อเนื่องไปที่ 2.88% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2559 (สูงสุดในรอบ 21 เดือน)

 และเป็นความจริงที่ว่า ค่าเงินที่อ่อนค่า พร้อมๆ กับบอนด์ยิลด์ที่ปรับขึ้น ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย เพราะสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค (และสกุลเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่) ล้วนเผชิญกับปัจจัยแวดล้อม ที่แม้จะไม่ใช่ปัจจัยใหม่ แต่ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มแรงกดดัน และกระตุ้นความผันผวนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

e-book-1-503x62-7 o ค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากสัญญาณคุมเข้มด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งไม่เพียงจะเตรียมขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมเดือนธ.ค. นี้เท่านั้น เพราะดูเหมือนกับว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุถึงโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ไปอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายระยะยาว หรือ Long Run ซึ่งเฟดมองไว้ที่ 3.00% นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ตอกย้ำถึงแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และมีผลค่อนข้างมากต่อการประเมินและการคาดการณ์ทิศทางของตลาดการเงินในช่วงปีข้างหน้า

o สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีโอกาสทรงตัวในกรอบสูงอีกระยะ เป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันทั้งต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ และต่อฐานะดุลการค้าให้การเกินดุลบางลงหรือขาดดุลเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการย้ำถึงปัญหาความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ และในท้ายที่สุดแล้ว ย่อมมีผลกระทบย้อนมาเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางค่าเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเงินรูปีอินเดีย เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์

o ความไม่แน่นอนอื่นๆ อาทิ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีผลต่อจังหวะการปรับตัวของเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้าแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ความไม่แน่นอนของตัวแปรทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว อาจจะมีผลทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ มีความผันผวนเป็นระยะๆ แม้จะคาดการณ์ว่า เงินดอลลาร์ฯ จะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และน่าจะเป็นสกุลเงินที่อยู่ในสถานะได้เปรียบในช่วงระหว่างที่สหรัฐฯ และจีน ยังมีประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างกัน

 สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของไทย อาจจะช่วยบรรเทาความผันผวนของค่าเงินบาทลงได้บ้างบางส่วน อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าลง เพราะปัจจัยแวดล้อมที่รออยู่ในระยะที่เหลือของปี ทั้งการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้จะไม่ใช่ปัจจัยใหม่ แต่เมื่อผนวกกับช่วงห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทย ก็อาจจะทำให้ทิศทางของเงินบาทมี “ความอ่อนไหว” ต่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น โดยธนาคารกสิกรไทย ยังคงตัวเลขคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2561 ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ (กรอบคาดการณ์ที่ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ)

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 090861-1927-3-335x503