กรีนบัสเล็งผุดสเตชันพลาซา รับรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่

13 ต.ค. 2561 | 23:00 น.
กรีนบัสเตรียมแผนลงทุนสเตชันพลาซาและลิฟวิ่ง ผสมผสานทั้งส่วนพลาซา ที่พักอาศัย และออฟฟิศเข้าด้วยกัน รองรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ คาดใช้งบลงทุนหลายพันล้านบาท เผยมีที่ดินสำหรับทำโครงการแล้วประมาณ 15 ไร่

lo03 (2)
นายสมชาย ทองคําคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด หรือกรีนบัส เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ 3 ระบบ ระบบแรกเป็นระบบหลักจะเป็นรถไฟรางเบา ซึ่งจะผสมระหว่างวิ่งบนดินกับวิ่งใต้ดิน ระบบรองจะเป็นระบบที่จะนำผู้โดยสารจากอำเภอต่างๆ เข้ามาที่สถานี และระบบเสริม คือระบบที่เป็นฟีดเดอร์ อาจจะรวบรวมและกระจายให้กับระบบรองและระบบหลัก ฉะนั้นทั้ง 3 ระบบจะเป็นโครงข่ายเรื่องขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 6 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า ในส่วนของกรีนบัสเองมีแผนที่จะลงทุนรองรับระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวเช่นกัน

“กรีนบัสเรามีที่ดินที่อยู่ในบริเวณนี้ การลงทุนอาจจะมีการผสมผสานกัน เช่น เรื่องของสเตชันพลาซาและลิฟวิ่งเข้าไป ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน จะเป็นสถานีที่มีความทันสมัยมากขึ้นให้บริการผู้โดยสารระหว่างจังหวัด มีพลาซา มีที่พักอาศัย มีออฟฟิศเข้าไปด้วย แผนการลงทุนคงไม่เกิน 10 ปีนี้ แต่ถ้าระบบขนส่งมวลชนแล้วเสร็จ เราก็ต่อเนื่องจากตรงนี้เข้ามา การลงทุนก็ชัดเจนมากขึ้น โอกาสในเรื่องของการลงทุนก็มีมากขึ้น สำหรับพื้นที่มีอยู่ประมาณ 15 ไร่และฝั่งตรงข้ามมีพื้นที่อีก 5 ไร่ ที่เราจะทำคือฝั่ง 15 ไร่ ส่วนลงทุน ในส่วนพลาซาต้องหาผู้ร่วมทุน แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอื่นได้ เพราะก่อนการลงทุน ต้องทำการศึกษาก่อน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนหลักหลาย 1,000 ล้านบาท ฉะนั้นจะต้องหาแหล่งเงินทุนเข้ามาร่วมด้วย”

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตเชียงใหม่จะเกิดในเรื่องของการลงทุนค่อนข้างมาก การลงทุนในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ เป็นเรื่องระบบการเดินทางใหม่ๆ จะทำให้เชียงใหม่กลายเป็นสมาร์ทซิตีขึ้นมา

สำหรับความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ล่าสุดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ต ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญอนุญาตการขยายการดำเนินงานของ รฟม.จากเดิมที่ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ที่กำหนดให้ รฟม.ดำเนินงานได้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น โดยร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ รฟม.จะสามารถเข้าไปดำเนินการรถไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ต ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ดำเนินงานหลังจากที่ รฟม.ได้ เข้าไปศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการลงทุนรถไฟฟ้าทั้ง 3 จังหวัดแล้ว

เชียงใหม่-new

ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ซึ่งควรจะก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) 2.ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางภายในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบาเช่นกัน

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11-13 ตุลาคม 2561