เบื้องหลังโมโตจีพีมิชลินกุมชะตาแชมป์โลก

13 ต.ค. 2561 | 03:00 น.
Andrea Dovizioso (ITA) Ducati Team Ducati MotoGP GP Thailand 2018 (Chang International Circuit) 05-07.10.2018 photo: MICHELIN

ปิดฉากด้วยรอยยิ้มของทุกฝ่าย สำหรับ “โมโตจีพี 2018” สนาม 15 รายการ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ครั้งแรกในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกของไทย ได้รับความสนใจในวงกว้าง และประเมินว่า 3 วันของการจัดงาน มีผู้ชมรวม 2.2 แสนคน เงินสะพัดกว่า 3,000 ล้านบาท

งานนี้นอกเหนือจากชมการแข่งขันรถ 2 ล้อบนความเร็วกว่า 300 กม./ชม. พร้อมสัมผัสซูเปอร์สตาร์นักบิดระดับโลกแล้ว “ฐานยานยนต์” ยังมีโอกาสเจาะลึกถึงการพัฒนาและการเลือกใช้ “ยางล้อ” ที่ปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการกำหนดชัยชนะ ผ่าน “มิชลิน” สปอนเซอร์ใหญ่ ผู้ที่จัดหายางแข่งให้แก่ทุกทีม

“มิชลิน” เข้ามาสนับสนุนในรายการโมโตจีพีตั้งแต่ปี 2016-2020 ซึ่งหน้าที่หลักคือการพัฒนาล้อยางให้เหมาะสมกับการแข่งขันในสนามต่างๆและแน่นอนว่าในสนามที่ 15 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ พวกเขาต้องมีการลงมาสำรวจและเตรียมความพร้อม

Marc Marquez (SPA) Repsol Honda Team Honda MotoGP GP Thailand 2018 (Chang International Circuit) 05-07.10.2018 photo: MICHELIN

“เราเริ่มการทดสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตัดสินใจพัฒนายางที่ใช้เพื่อสนามนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูง ประกอบกับลักษณะพื้นสนามไม่ค่อยเรียบ จะส่งผลให้ยางสปริ้นได้ง่าย อย่างไรก็ดีนักแข่งมักจะชอบพื้นสนามแบบนี้เพราะไม่เรียบเกินไป” นายปิเอโร ทารามัสโซ่ ผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ต ผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ของมิชลิน กล่าวและว่า

ยางที่ได้รับเลือกให้นำมาใช้ในสนามครั้งนี้ คือรุ่น MICHELIN Power Slick คุณสมบัติเด่นๆคือ ยางล้อหลังที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรับกับสภาพอากาศที่ร้อน มีให้เลือก 4 แบบเพื่อรองรับนักแข่งและทีมต่่างๆ โดยมีแบบsoft 1 รุ่น แบบ medium 2 รุ่น และแบบhard อีก 1 รุ่น

Michelin_ThailandGP_TyreAllocation

“ยางทั้งหมดที่นำมาล้วนแต่เป็นยางแบบไม่สมมาตร โดยด้านขวาจะแข็งกว่า เพื่อให้เหมาะกับเลย์เอาต์ของสนามที่มีโค้งขวา 7 โค้ง ส่วนโค้งซ้ายมีเพียง 5 โค้ง ส่วนยางล้อหน้าได้นำยางแบบสมมาตรไป 3แบบคือแบบsoft แบบmedium และแบบ hard” นายทารามัสโซ่ กล่าว

นอกจากยางหลักที่ได้เตรียมมาแล้ว มิชลินยังเตรียมยางในรุ่น MICHELIN Power Rain ทั้งแบบยางหน้า soft และ medium ส่วนยางหลังแบบmedium ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นยางแบบสมมาตร จะมีแค่ยางล้อหลังแบบ soft เท่านั้นที่มีหน้ายางแบบไม่สมมาตรโดยมีด้านขวาที่แข็งกว่าเหมือนกับยางประเภท slick ซึ่งสาเหตุที่ต้อง เตรียมยางประเภทนี้มาด้วยก็เพื่อรองรับกับฝนที่อาจจะตกลงมาแล้วทำให้พื้นสนามเปียก

โปรยมิชลิน-

“มิชลินใช้เวลาในการพัฒนายางเพื่อให้เหมาะสมแต่ละสนามประมาณ 8-10 เดือน และความยากในการพัฒนาคือเราไม่ได้ทำเพื่อรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งหรือทีมใดทีมหนึ่ง แต่เราทำเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสนามนั้นๆ อย่างไรก็ดีเราไม่ได้ทำยางใหม่ในทุกสนาม โดยในช่วงที่ผ่านมาที่ได้พัฒนาขึ้นมาเฉพาะคือสนามบาเลนเซีย สเปน, ฟิลลิป ไอส์แลนด์ ออสเตรเลีย และสนามช้าง ประเทศ ไทย เนื่องจากทั้ง 3 สนามมีแทร็กที่มีความแตกต่างจากสนามอื่นๆ”

นายทารามัสโซ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการใช้ในปีนี้ ก็จะมีการเช็กฟีดแบ็กเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในปีหน้าด้วย ทั้งนี้เพื่อให้นักแข่งได้มีตัวเลือกของยางที่ดีที่สุดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการขับขี่ของพวกเขา ไม่เพียงเท่านั้นมิชลินจะนำข้อมูลดังกล่าวไปศึกษาและหากสภาพอากาศเปลี่ยนไป มิชลินก็ต้องมีการพัฒนายางออกมาเพื่อให้เหมาะสมในสนามนั้นๆมากที่สุด

สำหรับการเดินทางมาครั้งนี้ มิชลินได้ยกขบวนยางมาจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 1, 700 เส้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปกติที่
เคยเตรียมไว้ 1,400 เส้นต่อ 1 สนาม

20181007 #3_181007_0012

...เรียกว่าผลการแข่งขันที่ออกมา ไม่ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ แต่ “มิชลิน” คว้าชัยทุกสนามแน่นอน

ส่วนผลการแข่งขันสนาม 15 ในรุ่น โมโตจีพี “มาร์ค มาร์เกซ” จ่าฝูงชาวสแปนิชจากทีมเรปโซล ฮอนด้า ไม่ทำให้แฟนๆ คนไทยผิดหวัง เมื่อเร่งแซงคู่แข่งอย่าง “อันเดรีย โดวิซิโอโช” จากทีมดูคาติในโค้งสุดท้าย ก่อนเข้าเส้นชัยเป็นคันแรกด้วยเวลา 39 นาที 55.722 วินาที ผงาดคว้าแชมป์ครั้งแรกของ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของ “มาเวริค บีญาเลส” นักบิดจากทีมโมบิสตาร์ ยามาฮ่า

สำหรับนักแข่งไทย “ติ๊งโน๊ต-ฐิติพงศ์ วโกร” คว้าอันดับ 18 ในรุ่นโมโตทู ตามหลังแชมป์ “ฟรานเชสโก้ บันยาญ่า” 38.315 วินาที และรุ่น โมโตทรี “สมเกียรติ จันทรา” คว้าอันดับ 9 ด้าน และ “อภิวัฒน์ เข้าวงศ์ธนานนท์” ได้อันดับ 16 ส่วนแชมป์คือ “ฟาบิโอ ดิจิอันนันโตนิโอ”

สนามถัดไปของการแข่งขันโมโตจีพีจะยกไปจัดที่ทวินริง โมเตกิ ประเทศญี่ปุ่นในรายการเจแปนีส กรังด์ปรีซ์ ระหว่าง วันที่ 19-21 ตุลาคมนี้

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว