"ไทย-อาเซียน" แข่งดึงทุน 'เกาหลี'

10 ต.ค. 2561 | 04:15 น.
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะมาขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของไทย ที่ผู้ประกอบการของเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) โลจิสติกส์ เป็นต้น

จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 ถึง มิ.ย. 2561 มีโครงการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) จากเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย ทั้งสิ้น 92 โครงการ หรือ เฉลี่ยปีละ 30 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่ 80% อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรกล โดยการลงทุนมีเป้าหมายเพื่อผลิตและจำหน่ายในไทย และส่งออกไปต่างประเทศ

 

[caption id="attachment_330664" align="aligncenter" width="335"] นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)[/caption]

"การลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง เราพยายามชี้โอกาสให้นักลงทุนเกาหลีเห็นว่า นอกจากอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว ต้องการให้เขามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เราต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมด้านดิจิตอล ด้านไบโอเทค โดยเฉพาะไบโอเทค ช่วยทางด้านการเกษตร หรือ ทางการแพทย์ รวมทั้งที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดสมาร์ทซิตีในไทย เกาหลีก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ก็น่าจะมีโอกาสที่เขาจะมาลงทุน โดยนำสมาร์ทซิสเต็มใหม่ ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาสมาร์ทซิตีในไทยด้วย"

ด้าน นายควอน พยองโอ ประธานและซีอีโอ สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) เผยว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการของเกาหลีใต้ได้ไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในจีนกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่ต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้กันในเวลานี้ ได้ส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้าของโรงงานเกาหลี รวมถึงโรงงานผู้ผลิตจากญี่ปุ่น ยุโรป และจากหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในจีน และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการถูกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงมาก จากนี้คงทำธุรกิจยากขึ้น

 

[caption id="attachment_330674" align="aligncenter" width="503"] ©PIRO4D ©PIRO4D[/caption]

"จากผลพวงดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการของเกาหลีต้องหาประเทศอื่นที่จะตั้งโรงงานแทนจีน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่เกาหลีมองเห็นโอกาสและมีศักยภาพมาก เฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่อีอีซีถือว่ามีโอกาสมาก เพราะเกาหลีมีความถนัด จากปัจจุบัน มีบริษัทจากเกาหลีใต้มาลงทุนหรือมีสาขาบริษัทอยู่ในไทยกว่า 400 บริษัท ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนที่เกาหลีมาลงทุน รองจากเวียดนาม ที่มีบริษัทเกาหลีกว่า 7,000 บริษัท และอินโดนีเซีย กว่า 600 บริษัท"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,407 วันที่ 7 - 10 ต.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เกาหลีใต้ดันกระแสนิยมวัฒนธรรมดึงคนไทยเที่ยวคาดปีนี้ทะลุ 5.4 แสนคน
เกาหลีหนีสงครามการค้า ยึดไทย-อาเซียนฐานผลิตใหม่


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว