เห็นชอบ "กฎหมายน้ำ" ร่างอนุบัญญัติใน 1 เดือน!!

09 ต.ค. 2561 | 12:44 น.
091061-1938

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2561 มีมติเสียงข้างมาก 191 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ในวาระ 3 เห็นสมควรให้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เป็นกฎหมาย หลังจากที่สมาชิก สนช. อภิปรายอย่างกว้างขวางต่อจากการประชุมครั้งก่อนที่ไม่แล้วเสร็จ โดยเป็นการรับฟังข้อท้วงติงจาก สนช. ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างกฎหมาย ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ถึง 63 มาตรา จาก 102 มาตรา

สนช. ไฟเขียวกฎหมายน้ำ "เจน" ตั้งท่าฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

นายเจน นำชัยศิริ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ มาตรา 57 การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ ต้องเฉลี่ยน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ และมาตรา 77 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในที่ดินบุคคลใด เพื่อตรวจตรา สำรวจ ตรวจค้น ยึดหรืออายัด เอกสารหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้อง

 

[caption id="attachment_330545" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธาน กมธ.วิสามัญฯ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธาน กมธ.วิสามัญฯ[/caption]

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกของการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีการบริหารจัดการน้ำ ยืนยันว่า กมธ. พิจารณาอย่างรอบคอบ รับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วน มั่นใจว่า ไม่มีเนื้อหากฎหมายส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน ส่วนการที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ขอให้ไปดูในคำปรารภ ที่ระบุชัดเจนถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลบางประการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้นายเจนกล่าวหลังการลงมติว่า ขอไปหารือก่อน เพราะต้องไปพิจารณาให้รอบคอบว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากกฎหมายนี้บ้าง ขอเวลาพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่ สนช. เห็นชอบให้เป็นกฎหมาย คือ โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการน้ำ ให้มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2560 มีหน้าที่กำกับนโยบายให้ส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติ กำหนดให้มีผังน้ำ หลักการ คือ หากจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ จะต้องไม่เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือ กีดขวางการไหล ช่วยป้องกันน้ำแล้ง น้ำท่วม จะทำให้เห็นถึงเส้นทางการระบายน้ำ


appmp38-3111-a

ส่วนการกำหนดค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 | 10,000 บาท สำหรับการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า และประปา และน้ำประเภทที่ 3 | 50,000 บาท สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมาก หรือ ก่อให้เกิดผลกระทบข้ามกลุ่มน้ำ โดยรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทให้นายกฯ กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องศึกษาและรับฟังความเห็นก่อนออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป ส่วนน้ำเพื่อการยังชีพ การทำเกษตรรายย่อยเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่เสียค่าธรรมเนียม

ขั้นตอนจากนี้ ให้ สทนช. ยกร่างกฎหมายอนุบัญญัติให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน รวมถึงแต่งตั้งอนุกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อรับฟังการกำหนดอัตราค่าเก็บน้ำแต่ละลุ่มน้ำต่อไป โดยมีบทเฉพาะกาลให้ผ่อนปรนการจัดเก็บไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ในการจัดเก็บอัตราค่าใช้น้ำสาธารณะ ที่เป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำนั้น ต้องหารือกับกรมชลประทาน กรมน้ำบาดาล เพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บที่เป็นมาตรฐานต่อไป


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,407 วันที่ 7 - 10 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กฎหมายน้ำใช้รัฐบาลหน้า 'เกษตรแปลงใหญ่-ยังชีพ' ไม่ต้องจ่าย
"บิ๊กฉัตร" เยือนเนเธอร์แลนด์ร่วมแลกเปลี่ยนบริหารจัดการน้ำระดับโลก

เพิ่มเพื่อน
595959859