จี้ 10 ราย แจงนำเข้า "มะพร้าว" ต้องสงสัยมาขายต่อฟันกำไร

09 ต.ค. 2561 | 09:37 น.
พาณิชย์เดินหน้าตรวจสอบผู้นำเข้ามะพร้าว 10 ราย ไม่ยอมแจ้งวัตถุประสงค์ หลังขอความร่วมมือ แต่ยังเงียบ ขู่หากพบทำผิด เตรียมใช้ไม้แข็งจัดการ ขณะที่ มาตรการเซฟการ์ดที่กรมฯ ดูแล รับใช้ได้เฉพาะกับสินค้าไม่เน่าเสีย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว โดยขอให้ผู้นำเข้ารายงานผลการใช้มะพร้าว ว่า ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ในการขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อติดตามมะพร้าวนำเข้า ต้องถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมตามที่แจ้งไว้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ถูกนำไปขายต่อในประเทศ ซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้รายงานผลเข้ามาแล้ว คงเหลืออีกประมาณ 10 ราย ที่ยังไม่ได้รายงานเข้ามา โดยกรมฯ อาจต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม พร้อมลงพื้นที่


อดุลย์

"ใน 10 รายที่ยังไม่รายงานการนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผู้ผลิตกะทิสด หากมีการตรวจสอบพบว่า ไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ขอนำเข้า กรมฯ จะมีมาตรการดำเนินการ เช่น การไม่ออกหนังสือรับรองฯ เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยืนยันว่า การนำเข้ามะพร้าวตามมาตรการที่กรมฯ ดูแล ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำ เพราะสถิตินำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค. - ส.ค.) มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 195,303 ตัน ลดลง 27.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการนำเข้า 268,672 ตัน"

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มะพร้าวในประเทศมีเพียงพอ ส่วนตัวเลขปี 2560 ที่มีการนำเข้าเพิ่มถึง 420,971 ตัน เพิ่มขึ้น 115 เท่า จากปี 2559 ที่มีการนำเข้า 3,676 ตัน เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยจากข้อมูล กรมศุลกากร ปี 2559 มีการนำเข้ารวม 171,720 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นเพียง 1.68 เท่า ทั้งนี้ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการระบาดของหนอนหัวดำในมะพร้าว ทำให้มะพร้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง จึงทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ในปี 2561 โรคหนอนหัวดำถูกแก้ไขได้ มะพร้าวในประเทศมีผลผลิตออกมามาก การนำเข้าจึงลดลง


มะพร้าว

นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากผลผลิตภายในประเทศมีมาก จากไทยแก้ปัญหาโรคหนอนหัวดำได้แล้ว และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาการลักลอบนำเข้า ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเข้าไปดูแลและเข้มงวดในการตรวจสอบแล้ว เรื่องนี้ต้องอาศัยหน่วยงานที่ดูแลในการตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศ ส่วนที่กรมฯ เกี่ยวข้องก็จะติดตามผู้นำเข้าว่า ดำเนินการตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่"

ส่วนกระแสที่ต้องการให้กรมฯ ใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก (เซฟการ์ด) โดยเฉพาะมะพร้าวนั้น อยู่ภายใต้กรอบขององค์การค้าโลก (WTO) ที่สามารถทำได้ กรมฯ ชี้แจงว่า ในมาตรการเซฟการณ์ที่กรมฯ ดูแล สามารถดำเนินการได้เฉพาะสินค้าที่ไม่เกิดการเน่าเสีย เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อนการประกาศใช้มาตรการถึง 1 ปี ขณะที่ สินค้าเกษตรอย่างมะพร้าว เป็นพืชที่เกิดการเน่าเสียได้ง่าย พ.ร.บ.ปกป้องจากการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น จึงนำมาใช้ไม่ได้

ดังนั้น หากจะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ คือ การกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าวตามสัดส่วนการนำเข้าโดยใช้มาตรการสุขอนามัยพืช โดยต้องนำเสนอให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชพิจารณา ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ ในวันที่ 18 ต.ค. 2561 นี้


มะพร้าวแห้ง

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จะต้องมีการพิจารณามาตรการออกมา ซึ่งกรมฯ หรือ กระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงแค่หน่วยงานปฏิบัติ โดยกรมฯ ดูแลการนำเข้าตามพันธกรณี WTO และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และได้มีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าไว้แล้ว โดยภายใต้ WTO ผูกพันเปิดตลาดในโควตาไว้ 2,317 ตันต่อปี ภาษี 20% ให้นำเข้าได้ช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. และ พ.ย. - ธ.ค. แต่ถ้านอกโควตาเก็บภาษี 54% ให้นำเข้าได้ทั้งปี ไม่จำกัดปริมาณ ซึ่งในปีนี้มีการนำเข้านอกโควตาแล้ว 27,580 ตัน มูลค่า 201 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออก จะได้คืนภาษี และภายใต้ AFTA ภาษี 0% กำหนดเวลานำเข้าช่วงเดียวกับ WTO และไม่จำกัดปริมาณเช่นเดียวกัน พบว่า มีการนำเข้า 167,723 ตัน มูลค่า 1,495 ล้านบาท

การนำเข้าส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนการจะเพิ่มมาตรการอื่นนอกเหนือจากนี้เพื่อป้องกันปัญหา เช่น การจำกัดระยะเวลานำเข้า คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องดูว่า ผิดเงื่อนไขของ WTO หรือไม่ เพราะอาจจะถูกฟ้องร้องได้

e-book-1-503x62-7