กรมชลฯ เปิดแอพ ‘SWOCWL’ สแกนวัดระดับน้ำผ่านสมาร์ทโฟน-ปี64คลุมทุกลำนํ้า

11 ต.ค. 2561 | 03:26 น.
   กรมชลประทาน มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ เดินหน้านำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการนํ้า ล่าสุดเปิดแอพ “ SWOC WL” ไม้บรรทัดวัดระดับนํ้า เปิดให้ประชาชนโหลดสแกน เออาร์มาร์กเกอร์ วัดระดับนํ้าผ่านสมาร์ทโฟนได้ด้วยตัวเอง นำร่องจุดบริการ 3 จุด ก่อนครอบคลุมลำนํ้าทั่วประเทศ 935 จุด ปี 64

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทานอยู่ระหว่างการพัฒนาบิ๊กดาต้า โดยขณะนี้ได้จัดทำถังข้อมูล ทั้งการบริหารจัดการนํ้า ระบบชลประทานทั่วประเทศเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูล และเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น อาทิ ปริมาณนํ้าฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทำการประมวลและวิเคราะห์ให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ล่าสุดได้เปิดตัวแอพพลิเคชัน SWOC Water Level (SWOC WL) หรือไม้บรรทัดวัดระดับนํ้า ที่ร่วมกับบริษัท ฟูจิตสึฯ พัฒนาขึ้นมา โดยเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน เพื่อสแกน เออาร์ มาร์กเกอร์ (AR Maker) เพื่อใช้ตรวจวัดระดับนํ้าได้ด้วยตัวเอง โดยแอพพลิเคชัน SWOC WL สามารถดาวน์โหลดเปิดใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส

โดยระยะแรกจะมีจุดติดตั้ง เออาร์ มาร์กเกอร์ ให้สแกน 3 แห่ง คือ บริเวณท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) (กรุงเทพฯ) ท่าเรือนนทบุรี (จ.นนทบุรี) และตลาดนํ้าอยุธยา (วัดท่าการ้อง จ.พระนครศรี อยุธยา) ในงบประมาณปี 2562 จะดำเนินการติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 150 จุด กระจายตาม ลำนํ้าสำคัญทั่วประเทศ ในงบประมาณปี 2563 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 300 จุด และในงบประมาณปี 2564 ติดตั้งจุดบริการเพิ่มเติมอีก 482 จุด รวมเป็น 935 จุด ครอบคลุมลำนํ้าต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้กรมชลประทาน ประหยัดงบประมาณการติดตั้งระบบโทรมาตร ที่ต้องใช้งบประมาณติดตั้งระบบจุดละ 200,000 บาท ขณะที่ระบบดังกล่าวใช้งบติดตั้งจุดละ 90,000 บาท และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษา ที่สำคัญคือเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจวัดระดับนํ้า ณ จุดต่างๆ ของลำนํ้าที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา และข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์นํ้า ณ เวลา จริง โดยปีหน้าระบบจะสามารถรายงาน คาดการณ์ระดับนํ้าได้ใน  3 วัน หรือ 7 วัน ข้างหน้า ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2564

แอพพลิเคชัน SWOC WL เป็นแอพพลิเคชันตรวจวัดระดับนํ้าที่กรมชลประทานได้พัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 และเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานภายใต้กรอบแนวคิด RID No.1 ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการนํ้าและพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะให้ได้ภายในปี 2579 ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานอีกด้วย

ทางด้าน นายภาสกร เงินเจริญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายภาครัฐ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟูจิตสึได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ แต่ไทยเป็นประเทศแรกที่เปิดให้ประชาชน สแกนเออาร์ มาร์กเกอร์ (AR MARKER) ผ่านแอพพลิเคชัน SWOC WLเพื่อวัดระดับนํ้าในบริเวณที่สนใจ ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์นํ้าในปัจจุบัน แนวโน้มของระดับนํ้าในลำนํ้า กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้

“การเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้งานนั้นแอพพลิเคชันจะต้องพัฒนาให้ใช้งานง่าย โดยสามารถใช้แอพพลิเคชัน สแกนเออาร์ มาร์กเกอร์ แล้วลากไม้บรรทัดมาวัดระดับนํ้า และส่งข้อมูลเข้ามาประมวล”

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62-7