กฟผ. ทุ่ม 1.65 แสนล้าน! กางแผนลงทุน 6 โครงการ ผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ 'อีอีซี'

15 ต.ค. 2561 | 04:55 น.
กฟผ. กางแผนลงทุน 6 โครงการ งบลงทุนกว่า 1.65 แสนล้าน ผลิตไฟฟ้าป้อนอีอีซี รองรับความต้องการใช้ได้ถึง 19 ปีข้างหน้า พุ่ง 9 พันเมกะวัตต์ ยัน! ภาคอุตสาหกรรมระยะแรกใช้ไฟเพิ่มแค่ 400 เมกะวัตต์ เหตุผู้ประกอบการส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ขณะนี้ กฟผ. กำลังเตรียมความพร้อมในการเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าภาคตะวันออก เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยพัฒนาระบบไฟฟ้าโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 1,350 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนราว 33,590 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ส่วนโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 1,470 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คาดจะใช้งบลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท จะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก แหล่งก๊าซธรรมชาติรับมาจากอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติเหลวจากการนำเข้า (LNG) ซึ่งโครงการมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในอัตราสูงสุดประมาณ 212.82 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และใช้นํ้ามันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีฉุกเฉิน 5.54 ล้านลิตรต่อวัน

โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 1-2 ขนาดกำลังการผลิต 1,470 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 28,005 ล้านบาท เปิดดำเนินการในปี 2566 โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกงเครื่องที่ 1-2 ขนาดกำลังการผลิต 1,450 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบโครงการและอยู่ระหว่างก่อสร้างใช้เงินลงทุนราว 33,942.65 ล้านบาท เปิดดำเนินการในปี 2563 โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบ มูลค่าโครงการประมาณ 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างสายส่งความยาว 469.664 วงจร-กิโลเมตร งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่ 3 แห่ง งานขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 1 แห่ง งานติดตั้งหม้อแปลง 3,000 เอ็มวีเอ งานขยายระบบเบ็ดเตล็ด 8 งาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

ขณะที่ การสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว ด้วยโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยนํ้า (FSRU : Floating Storage and Regasification Unit) มูลค่าโครงการราว 24,500 ล้านบาท บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ขนาด 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งเข้าโครงข่ายระบบท่อปัจจุบัน ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2567 ซึ่งหากรวมเงินลงทุนทั้ง 6 โครงการ จะต้องใช้กว่า 1.65 แสนล้านบาท


tp11-3408-a

นายพัฒนา กล่าวอีกว่า จากโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว จะช่วยให้พื้นที่ภาคตะวันออกมีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและในอนาคตเพิ่มขึ้น รองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างไม่มีปัญหา โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี ที่นำมาใช้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพีฉบับใหม่ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จนี้ ได้มีการประเมินว่า ในระยะช่วงต้น ๆ ของการพัฒนาอีอีซี จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 400 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2579 จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ จาก 5 กลุ่มโครงการหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมืองใหม่และชุมชน และเขตนวัตกรรมและ Digital Park เหตุผลหนึ่งเกิดจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะผลิตไฟฟ้าใช้เอง ดังนั้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเองจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของภาคอุตสาหกรรมที่ได้เข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในอีอีซีจะไม่มีลักษณะของประเภทเหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและแหลมฉบังที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากการประเมินพบว่า อุตสาหกรรมในโครงการอีอีซีน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าที่เป็นอยู่มากนัก อย่างไรก็ตาม มีการคาดว่าในปี 2579 พื้นที่อีอีซีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ จาก 5 กลุ่มโครงการหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมืองใหม่และชุมชน และเขตนวัตกรรมและ Digital Park โดยปัจจุบันภาคตะวันออกจะใช้ไฟฟ้าอยู่กว่า 1.5 หมื่นเมกะวัตต์

ขณะที่ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ชี้ให้เห็นว่า จากการศึกษาพบว่า ในพื้นที่อีอีซีมีแหล่งผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปี 2577 เป็นต้นไป จึงต้องพิจารณาพื้นที่สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ เพื่อรองรับเพิ่มเติม นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในแผน ซึ่งอาจจะพิจารณาใช้พื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า


หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561

595959859