จับสลากโซลาร์ฟาร์มเม.ย.นี้ กกพ.ยันค่าไฟงวดหน้าไม่ขึ้น

28 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
กกพ.เตรียมเดินหน้าจับสลากโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการ ต้นเดือนเมษายนนี้ รอมติ กพช.วันที่ 11 มีนาคมนี้ ตัดสินปัญหาพ.ร.บ. ผังเมือง พร้อมเล็งขอเลื่อนซีโอดีออกไปอีก 3 เดือนเป็นเดือนธันวาคม 2559 ล่าสุดตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการยังอยู่ที่ 219 ราย กำลังการผลิตรวมกว่า 1 พันเมกะวัตต์

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร (โซลาร์ฟาร์มราชการ) ว่า คงต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการ หรือกิจการที่ได้รับยกเว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ผังเมือง หากกพช. มีมติให้ข้อยกเว้นเรื่องกฎหมายผังเมืองมีผลบังคับย้อนหลัง ก็อาจจะมีหน่วยงานที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อคัดเลือกเข้าจับสลากเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย จากเดิมที่ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการดังกล่าวไปแล้วเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา จำนวน 219 ราย กำลังการผลิตกว่า 1 พันเมกะวัตต์

ขณะที่ในส่วนของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) คงต้องรอมติจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เช่นกัน โดยคาดว่า หาก กพช.มีความชัดเจนจะสามารถเปิดจับสลากผู้มีสิทธิ์ขายไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการฯได้ภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ถึงต้นเดือนเมษายนนี้

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการจับสลากในโครงการดังกล่าวที่มีความล่าช้าจากแผนเดิม 2-3 เดือน จากเดิมที่ต้องจับสลากตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้อาจจะต้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (ซีโอดี) ของโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการฯ ออกไปเป็นเดือนธันวาคม 2559 จากเดิมกำหนดภายในเดือนกันยายน 2559

"ตอนนี้คงต้องรอมติ กพช. ก่อน ซึ่งจะใช้มาตรา 44 หรือไม่นั้น คงไม่ใช่หน้าที่ กกพ.ที่จะเสนอ คงต้องเป็นการพิจารณาของภาครัฐ ส่วนหน่วยงานทหารที่มีข่าวว่าถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ ยังไม่มีหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการ ดังนั้นมีหลายโครงการที่รอความชัดเจนจาก กพช.ก่อน ปัจจุบันตัวเลขยังอยู่ที่ 219 ราย "

นายวีระพล กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา กกพ.เปิดให้ยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (FIT.) ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวนไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล 36 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของก๊าซชีวภาพ ได้เปิดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 23-29 กุมภาพันธ์นี้ และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนเมษายน ซึ่งในช่วงที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าพบว่ามีผู้สนใจมาสอบถามมากถึง 23-24 ราย ขณะที่การเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าชีวมวล จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 มิถุนายนนี้ และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดถัดไป (พฤษภาคม-สิงหาคม 2559) ทาง กกพ.จะพยายามตรึงค่าเอฟที โดยพบว่าราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลงเล็กน้อย 6 บาทต่อล้านบีทียู แต่อัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และประสบปัญหาปริมาณน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าน้อย ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวสูง จึงต้องใช้เชื้อเพลิงน้ำมันที่มีต้นทุนสูงกว่า ซึ่งเดิมประเมินว่าค่าเอฟทีจะสูงขึ้น 1-3 สตางค์ต่อหน่วย แต่ทาง กกพ. จะหาแนวทางบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ค่าเอฟทีสูงขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559