มึนรัฐเก็บภาษีตราสารหนี้ สมาคมบลจ.ขอเอี่ยวสรรพากรร่างกฎหมายลูก

11 ต.ค. 2561 | 05:44 น.
จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่เห็นชอบแนวทางจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม โดยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ จากเดิมที่เสียภาษีเพียง 10% เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าและความไม่เป็นธรรมจากการจัดเก็บภาษีระหว่างบุคคลธรรมดาที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงหรือฝากเงินในธนาคาร เมื่อมีดอกเบี้ย เงินปันผล หรือกำไร จะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15%

นายศักดา  มาณวพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) วรรณ จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดขณะนี้ยังไม่ได้ปรับตัวรับกฎเกณฑ์ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดว่า จะจัดเก็บอย่างไร คนออกตราสาร ผู้ถือตราสารคนแรกหรือคนสุดท้าย เพราะกรอบออกมามีเพียงว่า ให้กองทุนเป็นหน่วยภาษี เพื่อจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากกฎหมายลูกก่อน จึงจะรู้ว่า จะกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง

“ตอนนี้เราทำผลตอบแทนในกองทุนตราสารหนี้ได้ 2-3% ถ้าลบ 15% ที่เป็นภาษี จะเสียเปรียบธนาคารหรือไม่ เพราะถ้าไม่ เขาไม่ฝากกับเราแน่ๆ เพราะธนาคารมีเครดิต เรตติ้งดีกว่าอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็เตรียมโปรดักต์ว่า ถ้าไม่ได้ตรงนี้แล้วจะไปทางไหน อาจต้องไปต่างประเทศหรือไม่ เพราะต่างประเทศไม่ได้เสียภาษี แต่ถ้ากรมสรรพากรมองว่า ไปต่างประเทศแล้วไปลงตราสารหนี้ มีเรื่องดอกเบี้ยเหมือนกัน เราก็หนีไม่พ้น” Print

อย่างไรก็ตาม หลังมติครม. 28 สิงหาคม ต้องส่งเรื่องไปยังกฤษฎีกา น่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน จากนั้นกลับมาที่ครม.อีกครั้งหนึ่ง หากเห็นชอบจะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในช่วงต้นปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และคาดว่าน่าจะมีผลบังคับจริงในเดือนกรกฎาคมปีหน้า ซึ่งสมาคม พยายามติดต่อกับกรมสรรพากร เพื่อขอร่วมร่างกฎหมายลูกด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าต้องเตรียมระบบ เตรียมวิธีการรองรับอย่างไร ไม่ให้กระทบกับคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะกองทุน แต่ยังรวมถึงผู้ออกตราสารหนี้ ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงการให้กองทุนเป็นหน่วยภาษี ต้องยื่นแบบเหมือนนิติบุคคลหรือไม่

“ทางสมาคมพยายามติดต่อขอร่วมทำงานด้วย แต่กรมสรรพากรยังไม่ได้ตอบรับกลับมา ซึ่งขอประกาศก่อน แล้วค่อยมาคุยเรื่องกฎหมายลูก แต่ที่เราขอแล้วเขายอมรับคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และให้บลจ.ตั้งกองทุนใหม่ ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมา ซึ่งเราต้องคิดให้หมด ทั้งเราเองและผู้ถือหน่วย ว่าจะกระทบอย่างไร อย่างถ้าพูดว่า หักภาษีที่ผู้ออกตราสารหนี้เลย 15% ในวันที่เราได้รับดอกเบี้ยจริง ก็จะมีคำถามว่า ถ้าเราซื้อตั้งแต่วันแรก จะทำอย่างไร เพราะเป็นกองทุนเปิด เข้าๆ ออกๆได้ตลอด แล้วถ้าเก็บคนสุดท้าย แล้วคนแรกไม่ได้เสีย ก็จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบอีก”

090861-1927-9-335x503-8-335x503

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด(KTAM)กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ อาจต้องปรับในเรื่องการจัดการ เพราะนโยบายยังเลือกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพเหมือนเดิม โดยอาจเจรจาต่อรองในแง่ผลตอบแทนให้ดีขึ้น เพราะเป้าหมายหลักคือ ต้องรักษาผลตอบแทนให้กับนักลงทุน ถ้าภาษีกระทบต่อการลงทุนในภาพใหญ่ ต้องจัดพอร์ตใหม่หรือไม่ หาทางเลือกลงทุนใหม่ เช่นไปลงทุนในต่างประเทศ หรือเจรจากับผู้ออกตราสารหนี้ได้มั้ย ซึ่งจะเป็นภาพที่จะต้องมานั่งดู เพื่อรักษาผลตอบแทนให้ดีที่สุดให้กับนักลงทุน

“ผู้จัดการกองทุนจะมีทางเลือกมากขึ้น จะก้าวข้ามไปลงทุนในต่างประเทศแทนมั้ย หรือว่าลงทุนในไทย แต่เปลี่ยนนํ้าหนักในการลงทุนมั้ย”

 

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว