พีทีทีจีซีเดินหน้าลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ลูกค้าสั่งซื้อป้อนเม็ดพลาสติกแล้ว

26 ก.พ. 2559 | 09:00 น.
พีทีทีจีซีเผยนักลงทุนตอบรับตั้งโรงงานพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแล้ว 6-7 ราย คาดปลายปีนี้เริ่มตอกเสาเข็มบางโครงการ เตรียมลงทุนคลังสินค้าบริการป้อนเม็ดพลาสติกลูกค้า หลังได้ลูกค้าแล้ว 1 ราย ขณะที่โครงการลงทุนมาบตาพุดเรโทรฟิท กำลังศึกษาโรงงานแนฟทาแครกเกอร์ 1.5 ล้านตันต่อปี ชัดเจนไตรมาส 3 ปีนี้

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ถึงความคืบหน้าในการเข้าลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตากว่า ขณะนี้บริษัทได้คัดเลือกพื้นที่สวนอุตสาหกรรมของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการตั้งคลังสินค้า (ไซโล) กระจายเม็ดพลาสติกให้กับผู้ประกอบการที่จะมาตั้งโรงงานผลิตพลาสติก เพื่อส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

โดยได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าตั้งโรงงานผลิตพลาสติกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วประมาณ 6-7 ราย และหลังจากนี้คาดว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นอีก และน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนเรื่องการก่อสร้างโรงงานได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งการลงทุนคงใช้เวลาไม่นานเพราะเป็นการยกเครื่องจักรมาติดตั้ง นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายอยู่ระหว่างการพิจารณาความต้องการใช้สินค้าในตลาดเมียนมาเพื่อให้เกิดความแน่ใจก่อนการลงทุน

"ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ตอบตกลง ลงทุนโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ โรงงานผลิตฟิล์ม และคาดว่าจะมีอุตสาหกรรมพลาสติกครบทุกประเภท ดังนั้นบริษัทจะต้องหารือกับทางลูกค้า เพื่อคำนวณความต้องการใช้เม็ดพลาสติก จากนั้นจะลงทุนคลังสินค้าเพื่อป้อนเม็ดพลาสติกให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป ในช่วงแรกอาจจะใช้เงินไม่มาก 40-50 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีลูกค้า 1 ราย เซ็นสัญญาซื้อเม็ดพลาสติกราว 400-500 ตันต่อเดือน เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว" นายปฏิภาณกล่าว

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนมาบตาพุด เรโทรฟิท ภายใต้แผนจะมีการก่อสร้างโรงงานแนฟทาแครกเกอร์ 1.5 ล้านตันต่อปี จะมีผลิตภัณฑ์เอทิลีน 5 แสนตันต่อปี,โพรพิลีน 2.61 แสนตันต่อปี และบิวทาไดอีน (C4) มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต เนื่องจาก C4 เป็นพลาสติกเกรดพิเศษ ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าโครงการลงทุนดังกล่าวจะมีความชัดเจนด้านแผนลงทุนและเงินลงทุนได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการ PO/Polyols บริษัทอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการร่วมกับทางบริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่น เพื่อศึกษาความเป็นได้ของโครงการ ซึ่งคาดว่าการออกแบบจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2559 และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2560

นายปฏิภาณ กล่าวอีกว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) ชนิด PLA เฟสแรกกำลังการผลิต 7.5 หมื่นตันต่อปี ที่ศึกษาร่วมกับทางบริษัท เนเจอร์เวิร์ก ของสหรัฐฯ ยอมรับว่ายังชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากประสบปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกมากขึ้น ดังนั้นยังไม่รีบร้อนตัดสินใจในช่วงนี้ แต่ในฐานะที่บริษัทถือหุ้นโครงการดังกล่าว 50% ยังคาดหวังให้โครงการนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งเชื่อว่าการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ที่กรุงปารีส ในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมโครงการไบโอพลาสติกให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่สำคัญของบริษัทก็จะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดโครงการ และดำเนินการเจรจากับพันธมิตรที่มีศักยภาพทางการตลาด รวมถึงยังมีโครงการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยได้ศึกษาโอกาสขยายการลงทุนในตลาดอินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

นางดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลดค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยได้เจรจากับที่ปรึกษาการลงทุนรายใหญ่ 3-4 ราย เพื่อให้เข้ามาช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ คาดว่าจะชัดเจนในช่วงต้นไตรมาส 2 ปีนี้ เบื้องต้นตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ให้ได้มากกว่าในปีที่ผ่านมาที่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 400 ล้านบาท

สำหรับเงินลงทุนของบริษัทในช่วง 5 ปี (ปี 2559-2563) ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแล้วมีวงเงินทั้งสิ้น 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในส่วนนี้ไม่รวมโครงการขนาดใหญ่อย่างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ โครงการมาบตาพุด เรโทรฟิท และโครงการ PO/Polyols โดยตามงบลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดกลับมาได้ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินสดในส่วนนี้จะใช้คืนหนี้หุ้นกู้เดิม 1.3-1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และใช้จ่ายปันผล รวมถึงดอกเบี้ยทำให้คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือสำหรับลงทุนในโครงการใหม่ๆอีกประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559