เปิดเอกสาร 'ลับ' อนุญาโตฯ ชี้ขาด 'ทรู' จ่าย 9.4 หมื่นล้าน

11 ต.ค. 2561 | 05:19 น.
ยังเป็นประเด็นร้อนแรงเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) แม้อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากชี้ขาดให้ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม บริษัท เทเลคอมเอเชียคอร์ปอ เรชั่น จำกัด (มหาชน)) ชดเชยค่าเสียหายจากการให้บริการอินเตอร์เน็ต ADSL ให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นมูลค่า 9.4 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย

หากแต่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด เพราะคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดในครั้งนี้ ทางฝั่ง ทรูเตรียมแผนยื่นศาลปกครองกลางชั้นต้นเพิกถอนคำชี้ขาดเช่นเดียวกัน

ว่ากันว่าภายในเดือนนี้ ข้อพิพาทดังกล่าว อนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยจะส่งเรื่องกลับมายังสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะทนายความหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ส่งเรื่องต่อให้ผู้ร้อง (บมจ.ทีโอที) และผู้คัดค้าน (บมจ.ทรู)

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ที่ชี้ขาดให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ชำระเงินตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนเพื่อขยายบริการโทรศัพท์ฯ แก่ บมจ. ทีโอที 1,217,505,724.17 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาท ADSL ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้าน ต่างก็หาเหตุผลออกมาสนับสนุนเพื่อให้ข้อมูลกับคณะอนุญาโตตุลาการ แต่สุดท้าย มีคำสั่งชี้ขาดให้ทรูชดเชยค่าเสียหาย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สรุปคำสั่งชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้


ตั้งประเด็นข้อพิพาท 3 ข้อ
คณะอนุญาโตตุลาการได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไว้ 3 ประเด็น คือ 1.ผู้เรียกร้องมีสิทธิ์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ 2.ผู้คัดค้านผิดสัญญาต่อผู้เรียกร้องหรือไม่ และ 3.ผู้เรียกร้องได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด


'ทีโอที' มีสิทธิ์ร้อง
คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยว่า สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน ฉบับลงวันที่ 2 ส.ค. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 8 ก.ย. 2538 และเรื่องบริการเสริมตามเอกสารแนบท้ายคำเสนอข้อพิพาทหมายเลข 16 และ 17 ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทำไว้กับผู้คัดค้านนั้น เมื่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยถูกยกเลิกไปแล้ว สัญญาดังกล่าวจะโอนไปยังผู้เรียกร้อง และผู้เรียกร้องได้เข้าเป็นคู่สัญญากับผู้คัดค้านแทนที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือไม่


MP20-3408-B

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 15 ได้บัญญัติไว้ว่า "ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ และให้สัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา" ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผู้เรียกร้องจึงมีสิทธิ์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม แม้ผู้คัดค้านดังกล่าวอ้างว่า ผู้เรียกร้องไม่มีสิทธิ์ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก็ตาม


"ทรู" ผิดสัญญา
ส่วนประเด็นผู้คัดค้านผิดสัญญาต่อผู้เรียกร้องหรือไม่ ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน ฉบับลงวันที่ 2 ส.ค. 2534 สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 8 ก.ย. 2538 ตามเอกสารท้ายคำเสนอข้อพิพาทหมายเลข 16 และ 17 หรือเอกสารหมาย ร.16 และเรื่องบริการเสริมตามเอกสารหมาย ร.17 ข้อตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมการงานฯ ฉบับลงวันที่ 30 ส.ค. 2547 เรื่องการแสวงหาประโยชน์และการแบ่งรายได้ ตามเอกสารหมาย ร.18 ซึ่งการให้บริการที่นอกเหนือสัญญา ผู้คัดค้านทำไม่ได้ ผู้เรียกร้องกล่าวอ้างว่า ผู้คัดค้านผิดสัญญาตามเอกสาร ร.18 ข้อ 2 ที่ผู้คัดค้านนำอุปกรณ์ในระบบและให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Asymmetric Digital Subscribers Line หรือ ADSL) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เรียกร้อง ซึ่งผู้คัดค้านต่อสู้ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของผู้เรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้คัดค้านได้ประพฤติสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนฯ ตามเอกสารท้ายคำเสนอข้อพิพาทหมายเลข 16, 17 และหมายเลข 18 หรือ ร.16, ร.17 และ ร.18 โดยผู้คัดค้านนำอุปกรณ์ในระบบและให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความเห็นชอบจากผู้เรียกร้อง


สั่งชดเชย 9.4 หมื่นล้าน
ด้วยการวิเคราะห์ทางฝ่ายผู้ถูกร้องและผู้คัดค้าน ที่มีการเบิกตัวผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ปรากฏว่า คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีคำชี้ขาด ดังนี้ 1.ให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าผิดสัญญาที่นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2544 ถึง ส.ค. 2558 เป็นจำนวนเงิน 59,120,650,573 บาท ทั้ง 2 จำนวน เป็นเงิน 76,099,310,326.09 บาท พร้อมดอกเบี้ย 6.6875% ต่อปี จากเงินต้น 59,120,650,573 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2558 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น

ประเด็นสุดท้าย คือ ให้ผู้คัดค้านชำระค่าผิดสัญญาฯ ต่อเนื่องจากข้อ 1 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ถึงเดือน ธ.ค. 2560 เป็นเงินจำนวน 17,076,923,346 บาท และดอกเบี้ย 1,298,048,850.31 บาท ทั้ง 2 จำนวน รวมเป็นเงิน 18,374,972,196.31 บาท พร้อมดอกเบี้ย 6.6875% ต่อปี จากเงินต้น 17,076,923,346 บาท ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น

แม้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้วก็ตาม หากแต่ทรูเตรียมการที่จะขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางชั้นต้น หากได้หนังสือจากอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยส่งกลับมาตามกำหนด คือ ภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้

"เชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ เพราะทรูเองต้องสู้ยิบตา และกว่าจะจบก็อีกยาว เพราะค่าเสียหายเป็นเงินก้อนโตขนาดนี้ บิ๊กอย่าง 'ทรู' คงไม่ยอมเช่นเดียวกัน"


รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561


595959859