เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (3)

11 ต.ค. 2561 | 05:15 น.
สิ่งที่คุณเลือกคืออะไร? ยานยนต์ไร้ไอเสียไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นทางเลือก” นี่คือวลีจดจำที่เราได้รับในวันไปเยือนโรงงานผลิตรถบัสไฟฟ้าของบริษัท อีบัสโก (Ebusco) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตออฟฟิศทาวน์ที่มีสำนักงานของหลากหลายบริษัทเอกชนตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน โอบล้อมด้วยธรรมชาติ และดูสะอาดสะอ้าน แปลกตาไปจากนิคมอุตสาหกรรมทั่วๆ ไป แต่สำหรับอีบัสโก สภาพแวดล้อมดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัททำอยู่นั่นคือการผลิตรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ไม่ปล่อยไอเสีย (zero emission) ไม่สร้างมลพิษทางเสียง (เพราะรถวิ่งเงียบมาก) นี่คือบริษัทยุโรปรายแรกที่ผ่านข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วยการรับรองรถโดยสารไฟฟ้าแบบทั้งคัน (100% electric) ซึ่งตอบสนองเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ของอียูภายในระยะเวลา 50 ปีข้างหน้า

[caption id="attachment_330102" align="aligncenter" width="503"] ฌอง-ลุค เดอฟลอนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของอีบัสโก ฌอง-ลุค เดอฟลอนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของอีบัสโก[/caption]

และสำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์เอง นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา (2560) รัฐบาลได้กำหนดแผนสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยให้รถยนต์ที่ผลิตใหม่ต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยไอเสียภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งนั่นหมายถึงการแบนรถยนต์เครื่องดีเซลและเบนซินออกจากท้องถนน เปิดทางให้กับยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เข้าทางของบริษัทผู้ผลิตอย่าง อีบัสโก ผลงานของบริษัทซึ่งเป็นรถโดยสารขนาดความยาว 12 เมตร และเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้นวัตกรรมวัสดุผสมผสานวัสดุที่ใช้ทำอากาศยานเป็นจุดเด่นที่ทำให้รถมีนํ้าหนักเบา ตัดปัญหาเรื่องการไต่ขึ้นเนินสูงและจำนวนบรรทุกผู้โดยสารที่รถบัสไฟฟ้าทั่วไปมักจะต้องพบเจอ

จุดเด่นดังกล่าวผสานกับนวัตกรรมแบตเตอรี่ของอีบัสโกทำให้รถสามารถบรรทุกผู้โดยสารสูงสุดถึง 90 คน ทำความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 300 กิโลเมตรในการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง นายฌอง-ลุค เดอฟลอนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของอีบัสโก เปิดเผยว่า รถโดยสารไฟฟ้าของบริษัทอาจจะมีราคาแพงกว่ารถโดยสารทั่วๆ ไปสองเท่า แต่จากการที่ใช้ไฟฟ้าและไม่มีชิ้นส่วนให้ต้องซ่อมบำรุงมากนัก ลูกค้าจะสามารถคืนทุนภายในเวลา 6 ปีแรก ปัจจุบันมีรถบัสไฟฟ้าของอีบัสโกวิ่งให้บริการอยู่ในเมืองใหญ่ 17 แห่งทั่วยุโรป บริษัทมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ประเทศจีนและมีบริษัทจีนเป็นพันธมิตรร่วมค้า แน่นอนว่าการขยายตลาดไปทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจในอนาคต แต่ปัจจุบันยังเน้นที่สหภาพยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการมุ่งไปสู่เป้าหมายการลดจำนวนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเก่า และลดปริมาณการปล่อยไอเสียตามกรอบเวลาเป้าหมาย
ครบวงจรที่รง.รีไซเคิลแบตเตอรี่

เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแม้ว่าราคาอาจจะยังแพงอยู่ แต่หลายคนก็มองว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว และเป็นทางเลือกสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

[caption id="attachment_330101" align="aligncenter" width="503"] กระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ของยูมิคอร์ กระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ของยูมิคอร์[/caption]

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญการรีไซเคิลแบตเตอรี่อย่าง บริษัท ยูมิคอร์ฯ (Umicore) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม การกำจัดและบริหารจัดการแบตเตอรี่เก่า ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป แท็บเลต และแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูป ฯลฯ เป็นการเติมเต็มภาพรวมของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและตอบโจทย์เรื่องการกำจัดขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อได้มาซึ่งวัสดุที่ยังมีมูลค่า อาทิ โคบอลต์ นิกเกิล ทองแดง และทองคำ สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้อีกในอุตสาหกรรมการผลิต

ยูมิคอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวัสดุระดับโลก ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1989 เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่ปัจจุบันกลายมาเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญ ด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ชั้นแนวหน้าของโลก มีพนักงานกว่า 9,000 คน โรงงานผลิต และรีไซเคิลวัสดุมีอยู่ถึง 51 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาของตัวเองจำนวน 14 แห่ง รวมถึงบริษัทสาขาในประเทศไทย

โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ทางคณะไปเยี่ยมชมนั้นมีการลงทุนกว่า 600 ล้านยูโร สามารถรองรับแบตเตอรี่เก่าเพื่อนำมารีไซเคิลถึง 500,000 ตันต่อปี ซึ่งระบบที่ใช้มีชื่อว่า pyro-metallurgical treatment ผสมผสานกับระบบ hydro-metallurgical process ใช้ทั้งนํ้า ความเย็น และความร้อนสูง หลอมและแปรรูปแบตเตอรี่เก่าให้เหลือเพียงวัสดุโลหะมีค่าที่ยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทางโรงงานรีไซเคิลของยูมิคอร์ยังสามารถส่งต่อวัสดุเหล่านั้นไปยังโรงงานผลิตวัสดุของบริษัทที่ยังมีอีกหลายแห่งในประเทศต่างๆ เช่น โปแลนด์ และจีน

สำหรับประเทศไทยนั้น เนื่องจากบริษัทมีธุรกิจการผลิตวัสดุฟอกอากาศ-กรองไอเสียจากรถยนต์เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างธุรกิจ จึงมองว่าไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพเนื่องจากเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค

ฉบับหน้าตอนจบ พบกับการขับเคลื่อนของภาครัฐและเอกชนไทยที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่...ยานยนต์ไฟฟ้าในบริบทของไทยและแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

อ่าน | 
เรียนรู้จากยุโรป : ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 1) 
อ่าน |
เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 2) 
อ่าน |
เรียนรู้จากยุโรป:ดูงานยานยนต์สมัยใหม่ และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ตอน 3) 


................................................................................................

รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561

595959859