สหรัฐฯ-จีน ฮึ่มไม่เลิก ฉาวประเด็นใหม่กองทัพจีน ฝังชิปจารกรรมข้อมูลเซิร์ฟเวอร์

11 ต.ค. 2561 | 05:12 น.
ประเด็นสงครามการค้ายังไม่ทันได้คลี่คลาย ความตึงเครียดระลอกใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาก็เริ่มก่อตัวขึ้นอีกแล้วและน่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศเข้าสู่ภาวะที่น่าเป็นห่วง เมื่อมีการรายงานเจาะลึกของสำนักข่าวบลูมเบิร์กและบิสิเนสวีค ที่ออกมาระบุว่า หน่วยงานของกองทัพจีนได้อาศัยช่องโหว่ของระบบห่วงโซ่การผลิตสินค้าไฮเทคที่มีการกระจายแหล่งผลิตชิ้นส่วนประกอบออกไปในเครือข่ายโรงงานที่รับช่วงผลิตในประเทศต่างๆ ก่อนจะนำมาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ 1 ตัว ฝังไมโครชิปสำหรับการจารกรรมข้อมูลเข้าไว้ในแผงวงจรหลัก (motherboard) ของเซิร์ฟเวอร์

น่าตื่นตระหนกยิ่งไปกว่านั้นคือเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกปรับแต่งโดยการแอบฝังไมโครชิปจารกรรมข้อมูลเข้าไปนั้น เชื่อว่าถูกส่งมอบให้กับลูกค้าที่ซื้อเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นไปติดตั้งใช้งานแล้วในศูนย์ข้อมูลของบริษัท และในบรรดาลูกค้าที่ถูกกล่าวถึงก็หมายรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯเกือบๆ 30 ราย รวมทั้งแอปเปิล อิงค์ และ อเมซอนดอตคอม ธนาคารตลอด จนหน่วยงานภาครัฐ ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

รายงานเชิงตรวจสอบเจาะลึกของบลูมเบิร์กบิสิเนสวีคเปิดเผยว่า การเจาะข้อมูลผ่านทางฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้ารวมถึงข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศซึ่งถูกจัดเก็บอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แหล่งข่าวในหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯซึ่งใกล้ชิดในการสืบสวนเรื่องนี้เปิดเผยว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแอบติดตั้งไมโครชิปจารกรรมมากับแผงวงจรหลักของคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิตนี้ คือหน่วยงานภายใต้สังกัดกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ People’s Liberation Army นั่นเอง โดยอาศัยช่วงโหว่ในกระบวน การผลิตแผงวงจรหลักของบริษัท ซูเปอร์ ไมโคร คอมพิวเตอร์ฯ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “ซูเปอร์ไมโคร” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ส่งงานรับช่วงผลิตต่อให้กับโรงงานในประเทศจีน

hack ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เจ้าหน้าที่ส่งรายงานผลการสืบสวนแจ้งไปยังทำเนียบขาวว่า กองทัพจีนกำลังมีแผนฝังไมโครชิปเพื่อการจารกรรมข้อมูลไว้ในแผงวงจรหลักของคอมพิวเตอร์ที่ถูกส่งออกมายังลูกค้าในตลาดสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2558 บริษัทอเมซอนดอตคอมฯตรวจพบความผิดปกติในเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกฝังชิปแฝงมา โดยในปีนั้น อเมซอนกำลัง ขยายธุรกิจและสินค้าเข้าสู่บริการสตรีมภาพยนตร์ทางออนไลน์ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการบีบอัดข้อมูลจำนวนมาก บริษัทจึงมีแผนซื้อกิจการบริษัท เอเลเมนทัล เทคโนโลยีส์ฯ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่บังเอิญการตรวจสอบเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท เอเลเมนทัลฯ ทำให้พบว่าเซิร์ฟเวอร์ถูกดัดแปลงมีไมโครชิปแฝงมา ซึ่งไม่เป็นไปตามการออกแบบดั้งเดิม ขนาดของไมโครชิปดังกล่าวเล็กพอๆ กับเมล็ดข้าวสารหรือปลายดินสอ นอกจากนี้การสืบสาวหาความจริงยังนำไปสู่การค้นพบว่า แผงวงจรหลักของเซิร์ฟเวอร์ที่เว็บไซต์ของอเมซอนใช้ให้บริการอยู่ในประเทศจีน ก็ถูกฝังชิปจารกรรมมาด้วยเช่นกัน ในปีเดียวกันนั้น บริษัท แอปเปิล อิงค์. ก็ค้นพบไมโครชิปแอบแฝงมาในแผงวงจรหลักของคอมพิว เตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่ศูนย์ข้อมูลบริษัทใช้อยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งอเมซอนและแอปเปิล ออกมาแถลง ว่า ไมโครชิปดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อธุรกิจของบริษัท

รายงานของบลูมเบิร์กบิสเนสวีคนั้นใช้เวลาสืบเจาะและเก็บรวบรวมข้อมูลนาน 3 ปีและมีการสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากกว่า 100 ครั้ง ไมโครชิปดังกล่าวทำหน้าที่เสมือนประตูเปิดสู่ข้อมูลที่เก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ให้กับผู้ที่ล็อกอินเข้ามา มันยังช่วยให้ผู้ที่จารกรรมเข้ามาสามารถเจาะรหัสที่ถูกป้องกันไว้เป็นอย่างดี และยังสามารถออกคำสั่งให้ระบบปฏิบัติตามอีกด้วย

ในเบื้องต้นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลจีนเป็นผู้ให้การสนับสนุนความปลอดภัย (ของข้อมูล) ในโลกไซเบอร์ โดยให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในเรื่องนี้ จีนเองก็ตระหนักและมีความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยในระบบห่วงโซ่การผลิตเช่นกัน ทั้งจีนเองก็ตกเป็นเหยื่อของการ
จารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงร่วมลงนามรับรองแนวทางการปฏิบัติระหว่างประเทศขององค์การสหประชา ชาติว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2554

งานนี้จึงกล่าวได้ว่า จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น และยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ยุติการกล่าวหาสาดโคลนใส่กัน แต่ขอให้มีการหารือและให้ความร่วมมือกันมากขึ้น ท่าทีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือคาด แต่เชื่อว่าอย่างไรเสียสหรัฐฯไม่ยอมรามือในเรื่องนี้ง่ายๆ เพราะเกี่ยวเนื่องทั้งความลับทางการค้าของบริษัทเอกชนและข้อมูลความมั่นคงของประเทศ สงครามการค้ายังไม่เลิกรา ประเด็นเปิดศึกระลอกใหม่ก็วิ่งเข้าจีนอีกแล้ว

................................................................................................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,408 ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2561

595959859