กรุงศรีคอนซูมเมอร์มั่นใจ 5 ปี แตกตัวธุรกิจครอบคลุม CLMV

27 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
การเผชิญความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและโอกาสจากการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นับเป็นปัจจัยลบและปัจจัยบวกให้ผู้ประกอบการค้าการลงทุนเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ โดย "ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.)" ในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก และบริษัทในเครือ 3 องค์กรประกอบด้วย บมจ.อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส (กรุงศรี ออโต้) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (กรุงศรี คอนซูมเมอร์) และบริษัท ยูนิตี้ แคปปิตอล จำกัด ภายใต้แบรนด์กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ ที่กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ปีในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่ม CLMV (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งเป็นทั้งแหล่งผลิต มีทรัพยากรธรรมชาติและเป็นตลาดใหม่ที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนทั่วโลก

[caption id="attachment_33646" align="aligncenter" width="336"] ฐากร ปิยะพันธ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ฐากร ปิยะพันธ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์[/caption]

 กางแผน 5 ปี ปูพรหมธุรกิจครบ CLMV

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ในต่างประเทศภายใน 5 ปีนับจากนี้ บริษัทตั้งเป้าจะมีธุรกิจภายใต้เครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยาครอบคลุมทั้ง 4 ประเทศในกลุ่ม CLMV เพราะบริษัทประเมินกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงในระยะข้างหน้า โดยมีจีดีพีรวมเติบโตกว่า 7.3% หรือประมาณ 279.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ละประเทศเติบโตเฉลี่ยกว่า 6-7% คาดว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้าหรือในปี 2573 จีดีพีจะขยายตัวเพิ่มเป็น 250% หรือประมาณ 749 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มคนชั้นกลางจะเติบโตขึ้น 300% เป็นจำนวนถึง 160 ล้านคน และระบบการสื่อสารและอินเตอร์เน็ตจะเติบโตก้าวกระโดดกว่า 30% ในปี 2563 มีโทรศัพท์มือถือกว่า 246 ล้านเครื่อง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงสัดส่วนสินเชื่อภายในประเทศต่อจีดีพี หรือ Domestic Credit to Private Sector พบว่า การใช้บริการสินเชื่อในกลุ่ม CLMV ยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศไทย โดยทั้งกลุ่ม CLMV มีสัดส่วนใช้สินเชื่อประมาณ 54% ต่อจีดีพี โดยที่กัมพูชามีสัดส่วน 47% สปป.ลาว 27% เมียรมาร์ 28% เวียดนาม 114% และไทย 183% ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย

สำหรับโอกาสและการทำตลาดในแต่ละประเทศของ CLMV นั้น ที่ผ่านมาบริษัท กรุงศรี บริการเช่าซื้อสินเชื่อ จำกัด หรือ KLS ให้บริการสินเชื่อผ่อนชำระเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นเครือกรุงศรีฯ ได้เลือกเปิดตลาดในสปป.ลาว ณ เวียงจันทน์ตั้งแต่ปี 2557 สาเหตุที่เลือกเปิดตลาดในสปป.ลาวแห่งแรก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านต่างๆ และมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศ ซึ่งหลังจาก 1-2 ปีนี้บริษัทมีความพร้อมทางด้านทีมงาน และระบบ มีแผนจะขยายสาขาไปยังพื้นที่สะหวันนะเขต และปากเซ

ส่วนประเทศกัมพูชา ตอนนี้อยู่ในช่วงขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อกิจการธุรกิจไมโครไฟแนนซ์จากบริษัท Hattha Kaksekar Limited (HKL) เป็นสถาบันไมโครไฟแนนซ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของกัมพูชา ภายหลังจากมีข้อตกลงเรียบร้อยคาดว่า ภายในปี 2560 จะนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นเข้าไป เช่น เช่าซื้อรถยนต์ทั้ง 2 ล้อ และ 4 ล้อ และสินเชื่อสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อผ่อนชำระเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนประเทศเวียดนาม กำลังมีการพูดคุยอยู่และศึกษาตลาดแล้ว โดยจะดำเนินธุรกิจในลักษณะร่วมทุน หรือ Joint Venture เนื่องจากบริษัทแม่ คือ ธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิยูเอฟเจ จำกัด (BTMU บริษัทลูกของ MUFG) มีหุ้นในเวียดทิน แบงก์สัดส่วน 20% จึงอาจจะร่วมทุนประมาณ 10% หรือเกิน 50% ซึ่งจะเป็นธุรกิจคอนซูมเมอร์ไฟแนนซ์ และธุรกิจสินเชื่อบุคคล-ผ่อนชำระ สินเชื่อรถ 2,4 ล้อ ยกเว้นธุรกิจบัตรเครดิตที่ทางเวียดทินแบงก์มีอยู่แล้ว ขณะที่ประเทศเมียนมา ได้ทำวิจัยตลาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยธนาคารมีสำนักผู้แทน (Representative office) คาดว่า ภายใน 3-5 ปี การทำธุรกิจในเมียนมาจะชัดเจนยิ่งขึ้น

"เราวางเป้าไว้ 5 ปีจะมีธุรกิจครบในกลุ่ม CLMV แต่คงต้องดูตามโอกาสและความต้องการของตลาดว่า อันไหนจะไปก่อน-หลัง ซึ่งได้ทำวิจัยไปเกือบหมดแล้ว แต่ช่วงเพิ่มเริ่มทำธุรกิจสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศจึงไม่มาก และการบุครายได้จะอยู่กับแม่ แต่เชื่อว่า ตลาดทั้งใน 4 ประเทศนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก"

 ยอดซื้อเวียงจันทน์พุ่งดันธุรกิจKLSโต 200%

นายสุรเดช ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท KLS กล่าวว่า ธุรกิจหลักในสปป.ลาว มีอยู่ 2 ธุรกิจหลัก คือ 1.สินเชื่อผ่อนชำระเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 2.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในสปป.ลาว เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันปรับเป็นการซื้อด้วยเงินสดและผ่อนชำระมีสัดส่วนเท่ากัน 50% ภายในระยะเวลา 5 ปี (ก่อนหน้านี้จะซื้อเงินสดประมาณ 80% และผ่อนชำระเพียง 20%) ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการทำธุรกิจของบริษัท โดยในปีนี้ KLS ตั้งเป้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ 3 E คือ 1.Expand to New Markets การเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ การขยายหมวดหมู่ดีลเลอร์จากปัจจุบันมีอยู่ 49 แห่ง จะเพิ่มเป็น 11 แห่ง และการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ 2.Enrich Existing รักษาฐานลูกค้าเก่าผ่านกิจกรรมการตลาด และพยายามขายพ่วงผลิตภัณฑ์อื่น (Cross selling) และ 3.Excel Operational Excellence สร้างทีมขายให้แข็งแกร่ง และพัฒนากระบวนการทำงานให้ลูกค้าพึงพอใจ

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจภายใต้ KLS นับตั้งแต่ปลายปี 2557 จะเห็นยอดสินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง แต่จะเห็นการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์ตลาดเวียงจันทน์หากต้องการเติบโตอาจจะต้องเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เจ้าอื่น เพราะในเวียงจันทน์มีผู้เล่น 4-5 ราย เป็นผู้เล่นท้องถิ่น 3 ราย และต่างชาติ 2 ราย ซึ่งในปีนี้คาดว่า จะมียอดขายอยู่ที่ 1.4 แสนคัน ประมาณ 7 หมื่นคัน หรือประมาณ 50% จะซื้อด้วยเงิน และที่เหลืออีก 7 หมื่นคัน คาดว่า จะเข้ามาใช้บริการบริษัทราว 2 หมื่นคัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งประมาณ 4-5% โดยอัตราการผ่อนชำระสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงสุด 6 ปี แต่เฉลี่ยทั้งพอร์ตอยู่ที่ 36 เดือน

ขณะที่การผ่อนชำระเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงสุด 24 เดือน ทั้งพอร์ตเฉลี่ยอยู่ที่ 12 เดือน โดยที่อัตราหนี้เสียอยู่ที่ระดับ 0% ซึ่งคุณสมบัติผู้กู้ส่วนใหญ่จะมีรายได้ประมาณ 6-8 พันบาทต่อเดือน หรือประมาณ 2 ล้านกีบ ยอดสินเชื่อโดยในปี 2558 บริษัทมีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 2.1 พันบัญชี คาดว่า ปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.06 พันบัญชี เติบโต 141% ยอดสินเชื่อใหม่ตั้งเป้าเติบโต 228% จาก 314 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.03 พันล้านบาท โดยที่ยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัว 203% จาก 376 ล้านบาท เป็น 1.13 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่า ภายในปีนี้สาขาเวียงจันทน์จะถึงจุดคุ้มทุน และจะเริ่มทำกำไรได้ภายในปี 2560 เนื่องจากบริษัทอยู่ในช่วงลงทุนเริ่มต้นธุรกิจปีแรก ทำให้รายได้ยังคงติดลบ โดยทุนจดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 ตลาดบัตรเครดิตเริ่มสดใส

สำหรับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศ นายฐากรกล่าวว่า บริษัทมองว่าตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภายใต้จีดีพีขยายตัวเกิน 3% ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากภาระหนี้รถคันแรกที่จะหมดอายุปีนี้ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท รวมถึงพันธมิตรร้านค้าของบริษัทยังคงเปิดร้านค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นภาพรวมตลาดบัตรเครดิตปีนี้ไม่น่าห่วงมากนัก โดยปีนี้อัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบอยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 7-8%

อย่างไรก็ดีในส่วนของบริษัทตั้งเป้ายอดบัตรใหม่จำนวน 4 แสนใบ จากฐานปัจจุบันอยู่ที่ 3.8 ล้านใบ จบสิ้นปีอยู่ที่ 3.9 ล้านใบ ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ตั้งเป้าเติบโต 12% หรือประมาณ 2.9 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี หมวดการใช้จ่ายที่จะเห็นขยายตัวมากขึ้น คือ การจ่ายประกัน ค่าซ่อมรถยนต์ การซื้อของออนไลน์ จะเติบโตแทนกลุ่มน้ำมันที่ปรับลดลง ขณะเดียวกันพฤติกรรมคนใช้จ่ายผ่านบัตรจะเป็นกลุ่มระดับบนมากขึ้น

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) มองว่า ปีนี้ยังไม่ใช่โอกาสของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ระดับสูง แม้ว่าตัวเลขจะเริ่มทรงตัวในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมาแต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะหากพยายามเร่งปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ต้นปี จะเห็นหนี้เสียในช่วงปลายปีได้ ดังนั้น การตั้งเป้าจึงไม่สูงมากหรือทรงตัวจากปีก่อน โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 6.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัวประมาณ 4% คิดเป็นยอดเติบโตสินเชื่อสุทธิประมาณ 2 พันล้านบาท จากปีก่อนตั้งเป้าอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่า ภายในสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างจะจบอยู่ที่ 6.9 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.45% สินเชื่อส่วนบุคคล 3.5% โดยต่ำกว่าระบบประมาณ 0.4% ทั้ง 2 ธุรกิจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559